5 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "เครียดลงกระเพาะ"
อาการเครียด ดูเหมือนจะเป็นอาการประจำตัวของคนในยุคนี้ที่ในแต่ละวันพบเจอปัญหาทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียนและชีวิตส่วนตัว จนเกิดเป็นความเครียดสะสม บางคนสามารถปล่อยวางความเครียดได้ทัน แต่บางคนสะสมความเครียดจนมีอาการปวดท้องและคลื่นไส้ หรือที่เรียกกันว่า เครียดลงกระเพาะ
ระบบทางเดินอาหารกับความเครียด
เรามักได้ยินว่าโรคกระเพาะเกิดขึ้นจากการกินอาหารไม่เป็นเวลาหรือการกินอาหารรสจัด แต่ในระยะหลัง ๆ คนที่กินอาหารเป็นเวลาก็เป็นโรคนี้ได้เนื่องจากเมื่อเกิดความเครียดสะสมมากๆ ร่างกายจะสั่งให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนกัดกระเพาะเกิดเป็นอาการปวดท้อง นอกจากนั้นความเครียดยังส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารในอาการแบบอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบ หรือแม้แต่อาหารไม่ย่อยก็เกิดจากความเครียดได้เช่นเดียวกัน
เครียดลงกระเพาะ แท้จริงแล้วก็คือโรคกระเพาะที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา แต่เป็นการสั่งการของสมองนั่นเอง
อาการต้องรู้
โรคกระเพาะอาหารที่มีสาเหตุจากความเครียดมีอาการเหมือนกับโรคกระเพาะที่เกิดจากการกินอาหารผิดเวลา โดยอาการที่มักพบได้บ่อยๆ คือ
- คลื่นไส้อาเจียน เสียดทรวงอกหลังกินอาหาร
- ปวดแสบบริเวณช่องท้องและลิ้นปี แต่จะหายเมื่อได้กิน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเหมือนมีลมอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก
- เรอบ่อยๆ มีกลิ่นเหม็นน้ำย่อย เนื่องจากกระบวนการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์
- อาเจียนหรือขับถ่ายออกมาเป็นเลือดหรือมีสีดำ บ่งบอกว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร รีบพบแพทย์ด่วน
สัญญาณเตือนเมื่อเครียดเกินไป
บ่อยครั้งที่คนเรามักเครียดโดยไม่รู้ตัว สัญญาณเตือนดังต่อไปนี้ ร่างกายกำลังบอกว่าเครียดมากเกินไป
- หายใจเร็ว รูจมูกขยาย จากการที่ปอดขยายตัวสร้างออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น ต้องการช่องทางเดิน อากาศที่กว้างมากขึ้น
- ขนลุก เนื่องจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังหดตัว
- อยากอาหารมากกว่าปกติ เนื่องจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนเร่งการเผาผลาญอาหารออกมามาก ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นจนอยากอาหาร
- คลื่นไส้ เนื่องจากการทำงานของกระเพาะและลำไส้หยุดลง กรดในกระเพาะจึงเพิ่มขึ้น รู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ นอนไม่หลับ
วิธีรักษาโรคเครียดลงกระเพาะ
แม้โรคเครียดลงกระเพาะอาหารมักเป็นแบบเรื้อรัง แต่หากดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกวิธีก็สามารถหายขาดได้ ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- กินอาหารให้เป็นเวลาและครบ 3 มื้อ
- เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก ของทอด ของดอง
- งดสูบบุหรี่ งดน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาทิ ชา กาแฟ และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกาย กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินช่วยคลายเครียด อารมณ์สดใสขึ้น
- ทำกิจกรรมคลายเครียด ให้ร่างกายได้ปลดปล่อยความเครียด ลดอารมณ์แปรปรวนต่างๆ
เครียดได้ก็คลายได้ เมื่อเริ่มมีอาการที่ทำให้รู้สึกเครียดสิ่งที่ต้องทำคือ การผ่อนคลายความเครียด ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการพักจากสิ่งที่ทำ หากิจกรรมคลายเครียดต่าง ๆ หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ออกกำลังกาย หรือแม้แต่พูดคุยกับบุคคลต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงจิตแพทย์ด้วย นอกจากนั้นการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น ที่บ้าน ที่ทำงานให้น่าอยู่ก็ช่วยให้ความเครียดลดน้อยลงได้เช่นเดียวกัน