แบบทดสอบประเมินอารมณ์ คุณกำลังคลั่ง "การเมือง" เกินไปหรือเปล่า?
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต มีความเป็นห่วงว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองในขณะนี้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว และการสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิด จากความพยายามที่จะยัดเยียดให้ทุกคนคิดเหมือนตัวเอง ทั้งที่ในความเป็นปกติของมนุษย์ย่อมมีความเห็นต่าง ซึ่งทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะใด พ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ควรให้เกียรติและเคารพในความคิดของกันและกัน ถ้าเกิดความเห็นที่แตกต่างกัน ต้องมีสติ และต้องประคับประคองความเป็นครอบครัว และความสัมพันธ์ไว้ก่อน ต้องประเมินความสามารถในการเปิดรับของอีกฝ่าย อย่ายัดเยียดให้อีกฝ่ายยอมรับโดยไม่สมัครใจ ค่อยๆ พูด ค่อย ๆ คุย โดยเลือกพูด
ในโอกาส และเวลาที่เหมาะสม พร้อมนี้ กรมสุขภาพจิต ขอเชิญชวนทุกคน มาประเมินความเข้มของอารมณ์ตนเองและคนรอบข้าง เพื่อชะลอความเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรู้เท่าทันจิตใจกัน โดยประเมินว่าในช่วง ที่ผ่านมา เรามีความรู้สึกต่อไปนี้อย่างไร
- ฉันมักอารมณ์เสียเวลาคุยเรื่องการเมือง (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- เวลาคนพูดเรื่องการเมืองที่ฉันไม่เห็นด้วย ฉันอดไม่ได้ต้องเถียงเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- ฉันหมกมุ่นเรื่องการเมือง จนลืมเรื่องบ้านฉัน (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- ฉันกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับประเทศไทยตลอดเวลา (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- ฉันมักจะพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดเห็นทางการเมืองของฉันเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
เมื่อประเมินแล้ว ก็ให้คะแนน และแปลผลดังนี้ ตอบว่า ใช่ = 2 คะแนน, ไม่แน่ใจ = 1 คะแนน, ไม่ใช่ = 0 คะแนน เสร็จแล้ว รวมคะแนนที่ได้ทั้งหมดแล้วอ่านผลประเมิน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้คะแนน 0-2 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองปกติ คือเป็นผู้ที่เปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และตระหนักเพียงว่าเป็นความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจไม่ตรงกันได้
กลุ่มที่ 2 ได้คะแนน 3-5 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง มีจุดยืน และรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะเครียดและเกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ถ้าหมกมุ่นมากเกินไป จึงควรหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ไปท่องเที่ยวหรือออกกำลังกายบ้าง
กลุ่มที่ 3 ได้คะแนน 6-10 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง มีความเสี่ยงต่อความเครียดและขัดแย้งกับผู้อื่นสูงจึงไม่ควรเปิดรับสื่อที่นำเสนอเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองทั้งวัน หากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง และหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานการณ์หรือกับบุคคลที่มีความคิดรุนแรง
“ความเข้าใจ และการยอมรับความเห็นซึ่งกันและกันเป็นที่ตั้งสำคัญในความสัมพันธ์ของบุคคล จึงไม่ควรเพ่งแต่เรื่องการเมือง จนหลงลืมรักษาความสัมพันธ์กันในครอบครัว และคนใกล้ชิด” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว