เตือนสบู่คลอรีนทำให้ผิวขาวไม่ได้ อย่าหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณา

เตือนสบู่คลอรีนทำให้ผิวขาวไม่ได้ อย่าหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณา

เตือนสบู่คลอรีนทำให้ผิวขาวไม่ได้ อย่าหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับสบู่คลอรีน โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ใช้แล้ว ผิวขาวใส ขายกันอย่างแพร่หลายทางอินเทอร์เน็ต อย.มีความห่วงใยผู้บริโภค จึงได้ดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า สบู่คลอรีน (Chlorine Soap) มีการจดแจ้งด้วยระบบอัตโนมัติ เลขที่ใบรับแจ้ง 10-1-5856095 และ 10-1-5855918 โดยสูตรที่มาแจ้งกับทาง อย. ไม่มีสารฟอกสีในกลุ่มคลอรีน เช่น Sodium hypochlorite, Calcium hypochlorite เป็นส่วนผสมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทาง อย. ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ผลิต และได้มีการสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตและนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อไป

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า คลอรีนเป็นสารที่มีการกัดกร่อนรุนแรง ไม่สามารถใช้กับผิวหนังได้ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้ผิวหนังอักเสบได้ และเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุ ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลงวันที่ 26 มีนาคม 2551 และในส่วนของการโฆษณาสรรพคุณของเครื่องสำอาง ไม่สามารถแสดงสรรพคุณฟอกสีผิว หรือทำให้ผิวขาวกว่าสีผิวตามธรรมชาติได้ ตามคำสั่งคณะกรรมการเครื่องสำอาง ฉบับที่ 1/2549 เรื่อง ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง “ห้ามใช้ภาพหรือข้อความโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางว่าสามารถทำให้ผิวสีมีการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติ หรือใช้ข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน”

"การเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน จะได้ไม่เสี่ยงต่อการได้รับเครื่องสำอางที่อาจลักลอบใส่สารห้ามใช้หรือสารที่เป็นอันตรายต่าง ๆ เพราะหากมีปัญหาจากการใช้จะได้สามารถติดตามหาผู้รับผิดชอบได้ ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทยบอกรายละเอียดครบถ้วน มีชื่อที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าแสดงอยู่อย่างชัดเจน มีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ถึงแม้จะเป็นเครื่องสำอางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก็ต้องมีฉลากภาษาไทย และสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลักของเครื่องสำอางได้ทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือที่ Oryor Smart Application ว่าตรงกับข้อมูลที่แสดงที่ฉลากหรือไม่"

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้โดยทา ที่ท้องแขน 24-48 ชั่วโมงก่อนใช้เครื่องสำอาง หากใช้แล้ว มีความผิดปกติต้องหยุดใช้ทันที แล้วนำผลิตภัณฑ์ไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาว่า อยากสวยต้องอดทนต่อการระคายเคืองต่าง ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook