เภสัชกรแนะ “สมุนไพร” คลายปวดเมื่อย ทดแทนยาปฏิชีวนะ
อินกันทั้งบางกับละครสุดฮิต “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ที่สนุกแถมสาระเพียบ โดยเฉพาะความรู้สมุนไพรต่างๆ ที่ทำให้เราได้ทึ่งกับความมหัศจรรย์ของพืชพรรณ แถมยังนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกมาก
ดังนั้น ในช่วงนี้หากใครมีอาการปวดเมื่อย อยากหายาหม่องสมุนไพรมาบรรเทาอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ ลองศึกษาคุณสมบัติของสมุนไพรแต่ละชนิดกันดู เพราะการใช้สมุนไพรที่แตกต่างกัน ก็จะให้ฤทธิ์และสรรพคุณที่แตกต่างกันอีกด้วย
เภสัชกรหญิงอริษา เกมะทายุง ผู้ผลิตรายการเภสัชท่องโลกทางยูทูป กล่าวว่า หลายคนอาจจะคุ้นเคยในการใช้ยาหม่องทาเพื่อแก้วิงเวียน แมลงสัตว์กัดต่อย แต่ความจริงแล้วยาหม่องสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งตามหลักการรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมี 3 วิธีด้วยกันคือ
- ทานยาแก้ปวดพาราเซลามอลหรือยาแก้อักเสบในกลุ่ม NSAIDs แต่ก็มีอาการข้างเคียงระคายเคืองกระเพาะอาหารและมีผลเสียต่อไต ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ
- ทายาที่มีส่วนผสมของตัวยาแก้อักเสบ
- การนวด ซึ่งการนวดเป็นการช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ เมื่อการไหลเวียนเลือดเวียนเลือดดีขึ้นก็จะทำให้มีการถ่ายเทกรดที่เกิดจากการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น อาการปวดก็ลดลง และก็ถือเป็นการพักผ่อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับการนวดต่างกันก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นกลุ่มน้ำมันนวดที่มีกลิ่นหอมธรรมดาอาจจะไม่มีประสิทธิภาพลดอาการปวดเมื่อย จะเน้นให้ความรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า ส่วนผลิตภัณฑ์ ที่มีประสิทธิภาพลดอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ก็เป็นรูปแบบที่มีสารเคมีหรือตัวยา แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนาสูตรตำรับจากสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับตัวยาซึ่งเป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับคนชอบใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม สมุนไพรออกฤทธิ์ในการรักษาจึงควรระมัดระวังในการใช้ ควรคำนึงถึงสายพันธุ์และปริมาณของส่วนผสมที่พอเหมาะ
เลือกสมุนไพรเด่นคลายปวดเมื่อย
การนวดส่วนใหญ่มักใช้คู่กับสมุนไพรเพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืดยืดตัวออก ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดบวมจากการอักเสบ ควรเลือกสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการบวดเมื่อย หลักๆ ได้แก่ น้ำมันเขียว (Cajuput oil) ช่วยลดการอักเสบ การบูร (Camphor) มีรสร้อน แก้เคล็ดปวดบวม ขัดยอก กานพลู (Clove oil) มีสารยูจีนอล มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ช่วยลดอาการอักเสบ ใช้นวดข้อต่อและลดการปวดกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากโรคข้ออักเสบและโรคไขข้อ
กลิ่นหอมเหมือนกันแต่คุณสมบัติไม่เหมือนกัน
นอกจากนวดช่วยผ่อนคลายร่างกายแล้ว กลิ่นหอมจะช่วยบำบัดในด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักใช้ น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil) เกล็ดสะระแหน่ (Menthol) และ ลาเวนเดอร์ (Lavender) แม้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิด จะมีกลิ่นหอมและช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil) ใช้ทาผิวเพื่อลดการอักเสบและช่วยให้แผลหายเร็ว จึงสามารถใช้เทาบรรเทาแมลงสัตว์กัด ต่อย ขณะที่ กลิ่นของเกล็ดสะระแหน่ (Menthol) ช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ส่วนน้ำมันเขียว (Cajuput oil) นอกจากกลิ่นที่ช่วยบำบัดให้จิตใจผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด นอนหลับได้ดีแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบเหมาะสำหรับการใช้นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยเป็นอย่างดี