Google อาจทำให้คุณ “สมองเสื่อม” ได้มากขึ้น

Google อาจทำให้คุณ “สมองเสื่อม” ได้มากขึ้น

Google อาจทำให้คุณ “สมองเสื่อม” ได้มากขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อชีวิตใกล้ชิดเทคโนโลยีมากขึ้น ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตก็มากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องนั่งจำเบอร์โทรศัพท์ เลขที่บ้านของเพื่อนอีกต่อไป บวกลบคูณหารในใจก็ไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งการหาคำศัพท์ในภาษาต่างประเทศ และข้อมูลอื่นๆ เราหาคำตอบได้เพียงปลายนิ้วคลิกผ่าน Google ที่ไม่ว่าจะหาข้อมูลอะไรก็เจอ

แต่การใช้ Google เป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้คุณ “สมองเสื่อม” ได้

 

ในรายงานการศึกษาเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ Google Effects on Memory: Cognitive Consequences of Having Information at Our Fingertips (ผลกระทบจาก Google ที่มีต่อความจำ :  ผลลัพธ์จากกระบวนการคิด ของการได้รับข้อมูลผ่านปลายนิ้ว) ที่เก็บข้อมูลจากนักศึกษา พบว่าพวกเขาไม่สามารถจำข้อมูลต่างๆ ในอดีตได้ เพราะพวกเขามั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่สามารถค้นหาได้ผ่าน Google

Christopher Winter นักประสาทวิทยาที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การที่สมองของเรารับรู้ว่า “ไม่ต้องจำข้อมูลเหล่านี้” เพราะสามารถค้นหาข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายๆ ทำให้สมองของเราไม่มีการเตรียมรับข้อมูลใดๆ เพิ่ม ไม่เตรียมให้ข้อมูลเหล่านั้นเป็น long-term memory หรือความจำระยะยาว และอาจลดขนาดของการรับข้อมูลให้กลายเป็นความจำด้วย (memory capacity)

 

ในขณะเดียวกัน หากเป็นการ “จำข้อมูล” ด้วยตัวเอง เหมือนสมัยก่อนที่ยังไม่สามารถเข้าถึง Google ได้ง่ายๆ เราต้อง “จำ” ข้อมูลเหล่านั้นเป็น “ภาคบังคับ” แม้ว่าจะเกิดความเครียดขณะสร้างความจำเหล่านั้น แต่ในบางครั้งความเครียดเล็กน้อยนี้ก็ส่งผลดีให้สมองได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ



5 สิ่งที่ทำให้ “สมอง” ทำงานได้ดีขึ้น

หากอยากให้สมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น ลองทำตามเคล็ดลับง่ายๆ เหล่านี้ดู

    1. นอนให้มากขึ้น
      สมองจะทำงานได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องเริ่มจากการได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ด้วย แต่เรามักนอนน้อยลงๆ ทุกที จากรายงานการสำรวจพบว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1950 หรือราวๆ ปี 2500 จากที่คนส่วนใหญ่เคยนอนเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง เมื่อผ่านไป 20 ปี คนเริ่มนอนน้อยลงเหลือเพียงวันละ 7.5 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้การงีบหลับช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างวัน ยังส่งผลให้สมองทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย การนอนหลับ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาประสิทธิภาพของสมองในส่วนของกระบวนการคิด วิเคราะห์ต่างๆ ดังนั้นถ้าอยากคิดงานได้ไวๆ อย่าลืมนอนให้เพียงพอ

    2. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ในปริมาณที่เหมาะสม)
      ข้อดีของคาเฟอีนที่ซ่อนอยู่ในเครื่องดื่มที่เรามักดื่มในตอนเช้าอย่าง กาแฟ ไม่ได้ทำให้เราหายง่วงเท่านั้น แต่ยังทำให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระตุ้นการทำงานของสมองให้คิดไว ทำไวได้ จากรายงานการวิจัยระบุว่า หากเราดื่มกาแฟ 1 ถ้วยเล็กในตอนเช้า (ราวๆ 350 มิลลิลิตร) หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนราว 200 มิลลิกรัม จะช่วยให้เราพูดได้เร็ว และคล่องปากมากขึ้น สมองคิดไว ทำงานไวมากขึ้น และยังแม่นยำยิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากต้องการดื่มคาเฟอีนทุกวัน แต่ไม่แน่ใจว่าปริมาณเท่าใดถึงจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าให้โทษ ควรตรวจสุขภาพ และปรึกษาแพทย์เป็นคนๆ ไปจะดีกว่า

    3. หยุดดื่มแอลกอฮอล์บ้าง
      เราไม่ได้ให้คุณหยุดดื่มแอลกอฮอล์ถาวร (ถ้าทำได้ก็ดี แต่หากนานๆ ดื่มสักครั้งก็ยังพอไหว) แต่การดื่มแอลกอฮอล์ 15-20 แก้วต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่ดูแลในส่วนของระบบความจำในระยะยาวเสื่อมลง แม้ว่าแอลกอฮอล์จะไม่ได้ทำร้ายเซลล์สมอง แต่ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบความจำ คิด วิเคราะห์ ทำงานด้อยประสิทธิภาพลง

    4. ฝึกสมองอยู่เรื่อยๆ
      คุณเคยรู้สึกไหมว่า ช่วงที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ สามารถจดจำบทเรียน คิดคำนวณตามโจทย์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ในวัยทำงานที่อาจละทิ้งสิ่งที่เคยร่ำเรียนไป ไม่ได้ทบทวน ไม่ใช้ในการทำงานในแต่ละวัน อาจทำให้เราหลงลืมสิ่งที่เราเคยเรียนมาไปมาก รวมถึงการใช้สมองในการจดจำ คิด และวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ อีกด้วย คุณสามารถฝึกสมองได้ง่ายๆ เพียงเล่นเกมที่ช่วยให้เราฝึกคำนวณ ฝึกแก้ปัญหา จำคำศัพท์ หรืออ่านหนังสือที่มีสาระน่ารู้ต่างๆ บ้าง

    5. มีเพศสัมพันธ์ (ตามความเหมาะสม)
      งานวิจัยเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาที่ตีพิมพ์ใน Journals of Gerontology ทำการทดลองโดยให้ผู้ใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์รายสัปดาห์เป็นปกติ กับคนที่ไม่ค่อยได้มีเพศสัมพันธ์ทำข้อสอบวัดระดับความรู้ พบว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำมีส่วนที่ได้คะแนนจากการทำสอบวัดระดับความรู้มากกว่า 


นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาอีกฉบับ ที่ตีพิมพ์ใน Archives of Sexual Behavior พบว่าผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำตามปกติ สามารถนึกคำศัพท์ที่เคยใช้ในอดีตจากความทรงจำได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ค่อยได้มีเพศสัมพันธ์ นั่นจึงอาจมีความเป็นไปได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ช่วยให้สมองมีความจำที่ดีขึ้นได้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน 100% โดยมีการสันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะการมีเพศสัมพันธ์ช่วยลดความตึงเครียดในสมองได้ จึงช่วยให้ภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วนของความจำได้เช่นกัน

ถ้าใครจะใช้วิธีนี้ อย่าลืมดูวุฒิภาวะของตัวเองว่ามีความพร้อมแค่ไหน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook