3 สัญญาณอันตราย อาการ “มะเร็งลำไส้”
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรส่งผลให้แนวโน้มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่สาเหตุการตาย และปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี
สำหรับประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ 12,467 คน เป็นเพศชาย 6,874 และเพศหญิง 5,593 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,700 คนต่อปี
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
สาเหตุของมะเร็งลำไส้
- รับประทานอาหารไขมันสูง
- อาหารฟาสต์ฟูดต่างๆ
- อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม
- อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ
- เนื้อสัตว์แปรรูป
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ขาดการออกกำลังกาย
- ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน
- มีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้
เป็นต้น
>> 5 สุดยอดอาหารอร่อย แต่เสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่"
>> 8 พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว
3 สัญญาณอันตราย อาการ “มะเร็งลำไส้”
- ถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด (>> “ถ่ายเป็นเลือด” แบบไหนเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่-ริดสีดวงทวาร)
- ขนาดลำอุจจาระเล็กลง
- มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด
เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป
>> ผักผลไม้-โยเกิร์ต ลดความเสี่ยง “มะเร็งลำไส้”