อหิวาตกโรค (โรคห่า) โรคระบาดที่ปัจจุบันก็ยังอันตรายอยู่
คนในยุคปัจจุบัน หากพูดชื่อ “โรคห่า” อาจไม่คุ้นหูเท่าใดนัก แต่หากเป็นคนสมัยก่อน รุ่นคุณปู่คุณย่า หรือคุณทวดของเรา อาจจะรู้จักโรคนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนมากมายทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะแต่ในประเทศไทย และที่สำคัญ ปัจจุบันก็ยังพบผู้ป่วยโรคนี้อยู่ ที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “อหิวาตกโรค” ในละครเรื่อง ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง ก็มีตอนที่กล่าวถึงโรคนี้ด้วย
อหิวาตกโรค (โรคห่า) คืออะไร?
อหิวาตกโรค หรือโรคห่า เป็นโรคระบาดที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้น ซึ่งพบได้ในอาหารที่ไม่สะอาด หรืออยู่อาศัยในแหล่งที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
สาเหตุที่ในสมัยก่อนพบผู้ป่วยโรคห่า หรืออหิวาตกโรคมากกว่าในปัจจุบัน เพราะคุณภาพชีวิต อาหาร ที่อยู่อาศัยของเราในสมัยนี้ถูกสุขลักษณะขึ้นมาก มีความสะอาด ปลอดภัย ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลความสะอาดบ้านช่อง อาหาร ภาชนะต่างๆ มากขึ้น ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น จึงทำให้พบการระบาดของโรคอหิวาตกโรคน้อยลงในที่สุด
อาหารเสี่ยงเชื้ออหิวาตกโรค (โรคห่า)
- อาหาร และน้ำที่ไม่สะอาด
- อาหารที่มีแมลงวันตอม
- อาหารสุกๆ ดิบๆ
- อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว
เป็นต้น
อาการของอหิวาตกโรค (โรคห่า)
เชื้อแบคทีเรียที่เรารับประทานเข้าไปในร่างกายพร้อมอาหาร จะเข้าไปในลำไส้ และสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ทำให้ท้องร่วงอย่างรุนแรง โดยอุจจาระจะมีลักษณะถ่ายเป็นน้ำซาวข้าว มีมูกมาก มีกลิ่นเหม็นคาว
หากท้องร่วงมากๆ ร่างกายจะสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างรวดเร็ว และหากไม่รักษาให้ทันท่วงที อาจเสียชีวิต
หากท้องร่วง ท้องเสีย ควรทำอย่างไร?
- งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด รวมถึงอาหารหมักดองต่างๆ
- ดื่มชาแก่ จะช่วยลดอาการท้องเสียได้
- ในบางรายอาจต้องลดการทานอาหารชั่วคราว เพื่อลดอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร (ให้กินน้ำข้าวต้ม หรือให้น้ำเกลือแทน)
- ดื่มน้ำเกลือแร่ชนิดผง (ผงเกลือแร่ ORS แก้ท้องร่วง) สลับกับน้ำต้มสุก
- หากเป็นเด็กเล็ก หรือยังคงถ่ายอย่างต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์