6 สัญญาณอันตรายโรค “ไต”

6 สัญญาณอันตรายโรค “ไต”

6 สัญญาณอันตรายโรค “ไต”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกันมากขึ้น ข้อมูลจากการศึกษาจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยป่วยเป็น โรคไตเรื้อรัง ประมาณร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8-10 ล้านราย มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตประมาณ 1,439 รายต่อล้านประชากร และมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นทุกปีๆ

ผศ.พญ.วรางคณา พิชัยวงศ์ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคไตจึงไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไป โรคไตเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคภาวะความดันโลหิตสูง โรคเอสแอลอี (SLE) หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงที่จากการใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด หรือ “ยาเอ็นเสด” รวมทั้งโรคไตที่เกิดจากพันธุกรรม

 

6 สัญญาณอันตรายของโรคไต

  1. มีอาการบวมรอบดวงตา

  2. ขากดบุ๋มสองข้าง

  3. ปัสสาวะลำบาก

  4. ปัสสาวะแดงเป็นเลือด

  5. มีฟองปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

  6. ปวดบั้นเอว

 

อันตรายที่น่ากลัวของโรคไต

ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากมักไม่ปรากฏอาการใดๆ การจะทราบว่าท่านเป็นโรคไตหรือไม่ ต้องอาศัยการคัดกรองโรคไต ซึ่งทำได้ไม่ยากด้วยการตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจเลือดหาค่าซีรั่มครีเอตินิน หรือค่าอัตราการกรองของไต (eGFR) เพื่อหาระดับการทำงานของไต ร่วมกับตรวจปัสสาวะ ประชาชนทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคัดกรองโรคไตและหาความเสี่ยงอื่นๆ ในการเกิดโรค ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรตรวจติดตามการทำงานของไตถี่มากขึ้น

 

ระยะของโรคไต

ผศ.พญ.วรางคณากล่าวต่อว่า หากไตเริ่มทำงานลดลง โรคไตเรื้อรังจะไม่หายขาด แต่สามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ เพื่อลดการเข้าสู่ระยะที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ผู้ป่วยสอบถามแพทย์ผู้ดูแลว่า ไตมีความเสื่อมอยู่ในระดับใด

ระยะของไตเรื้อรังแบ่งตามอัตราการกรองของไต มีทั้งหมด 5 ระยะ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำการรักษาจากอายุรแพทย์โรคไต เมื่อการทำงานไตของท่านอยู่ในระดับ 4 หรือ 5 เนื่องจากไตเรื้อรังระดับ 5 เป็นระยะที่ท่านต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการบำบัดทดแทนไต

 

วิธีป้องกันโรคไต

การป้องกันการเกิดโรคไตทำได้โดย

  1. ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ

  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  3. เลือกรับประทานอาหาร โดยเฉพาะลดการบริโภคเค็ม

  4. งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จะช่วยป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตได้

 

มีข้อมูลพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเค็มมากกว่าปกติกว่า 2 เท่า มากกว่าค่าที่กำหนด หรือมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (โซเดียม 4,320 มิลลิกรัม) หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 10.8 กรัมต่อวัน โดยทั่วไปแนะนำไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 5 กรัมต่อวันหรือเทียบเท่ากับ 1 ช้อนชาต่อวัน น้ำปลาหรือซอสปรุงรสไม่เกิน 4 ช้อนชาหรือ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน การลดความเค็มในอาหารจะลดการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมเกินได้ ซึ่งรวมถึงโรคไตเรื้อรัง และโรคภาวะความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้ควรระมัดระวังความเค็มที่มีอยู่ในอาหารที่ได้รับการแปรรูปมาแล้วรวมทั้งอาหารกระป๋อง โดยท่านจะทราบปริมาณโซเดียมในอาหารได้จากข้อมูลฉลากข้างผลิตภัณฑ์

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook