หูฟังบลูทูธ-ไร้สาย เสี่ยง “มะเร็ง” หรือไม่?
หลังจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อย่าง Apple เริ่มส่ง AirPods หรือหูฟังไร้สายวางจำหน่ายไปทั่วโลก จากจำนวนผู้ใช้งานหูฟังบลูทูธไร้สายจำนวนไม่มากนัก ก็เริ่มเป็นเทรนด์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นแก็ดเจ็ต เป็นเทรนด์แฟชั่นของคนรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย ส่งผลให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ผลิตหูฟังบลูทูธไร้สายสู่ตลาดมากขึ้น และชีวิตการฟังเพลงแบบไร้สายเริ่มเป็นที่นิยมกันบางขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายคนค้นพบว่า การฟังเพลงแบบไม่มีสายให้รำคาญ ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น
ดร. เจอร์รี่ ฟิลิปส์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยโคโรราโด้ ที่โคโรราโด้สปริงส์ กล่าวว่าเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการใช้งานหูฟังบลูทูธอย่าง AirPods เพราะ “หูฟังที่ใส่เข้าไปในรูหู อาจส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อในศีรษะในระดับสูงเหมือนคลื่นรังสีเรดิโอฟรีเควนซี หรือ อาร์เอฟ”
ไม่ได้มีเพียงแค่ ดร. เจอร์รี่ คนเดียวเท่านั้น ก่อนหน้านี้ยังมีนักวิจัยราว 250 คนจากกว่า 40 ประเทศ ลงชื่อกับองค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก เพื่อยืนยันถึงเรื่องนี้ด้วย แต่เป็นการยืนยันว่า “อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับบลูทูธได้” อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จากสาเหตุที่มีรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประ เภทนัน-ไอออนไนซ์ ที่พบได้ในสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่นบลูทูธทั่วไป
เพราะฉะนั้น แปลว่ามีการผลิตหูฟังบลูทูธมาจำน่ายโดยไม่มีการตรวจสอบคามปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่? คำตอบคือ “ไม่” เพราะรัฐบาลกลางสหรัฐตรวจสอบแล้ว พบว่า การใช้หูฟังที่มีการส่งผ่านคลื่นวิทยุจากสมาร์ทโฟนสู่หูฟัง ไม่ได้ส่งรังสีเข้าไปข้างในหู อยู่แต่เพียงบริเวณหูด้านนอกเท่านั้น
นอกจากนี้ รังสีที่ปล่อยออกมาจากอุปกรณ์บลูทูธ ยังน้อยกว่ารังสีจากโทรศัพท์ราว 1 ต่อ 10 หรือต่ำกว่านั้น เคน ฟอสเตอร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวเวช มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ระบุว่า “หากจะกังวลเรื่องรังสีจากหูฟังบลูทูธ ควรให้ความสนใจกับรังสีจากโทรศัพท์จะดีกว่า” นั่นหมายความว่า หากคุณใช้หูฟังบลูทูธในการสนทนาเป็นเวลานาน ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการถือโทรศัพท์แนบหูนานๆ
>> คลื่นโทรศัพท์มือถือ ก่อ "มะเร็ง" ได้จริงหรือไม่?
ทั้งนี้ สำหรับกรณีของรังสีจากคลื่นโทรศัพท์ ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิจัย และหน่วยงานรัฐต่างๆ ถึงความปลอดภัยต่อการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ดังนั้นเรื่องของคลื่นรังสีจากอุปกรณ์บลูทูธก็ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไปนี้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่าการใช้อุปกรณ์บลูทูธ รวมถึงหูฟังบลูทูธจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ แต่หากอยากใช้หูฟังบลูทูธให้ปลอดภัย ไม่ควรใช้หูฟังด้วยเสียงดังเกินไป และไม่ใช้หูฟังติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบกับการได้ยิน