เลิกเชื่อ! เป็นเอดส์ต้องตาย ดูแลดีก็มีชีวิตปกติได้

เลิกเชื่อ! เป็นเอดส์ต้องตาย ดูแลดีก็มีชีวิตปกติได้

เลิกเชื่อ! เป็นเอดส์ต้องตาย ดูแลดีก็มีชีวิตปกติได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลบล้างทุกความเชื่อเก่าๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์ไปได้เลยว่า ใครที่เป็นโรคเอดส์ หรือติดเชื้อ HIV จะต้องตายสถานเดียว เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุขร่วมกับคนทั่วไปได้อีกนับสิบปีเลยทีเดียว


เชื่อว่าคนไทยหลายคนยังคงติดอยู่กับภาพเดิมๆ ว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องทนทุกข์ทรมาน มีแผลขึ้นตามตัว และสุดท้ายก็เสียชีวิตทุกราย เพราะยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ 100% แต่อันที่จริงแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวล้ำไปถึงไหนแล้ว Sanook! Health จะมาอัพเดตให้อ่านกันค่ะ

รู้ไว้ก่อน ผู้ติดเชื้อ HIV กับ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ไม่เหมือนกัน!

อาจจะมีบางคนที่สับสนว่า คนที่ติดเชื้อ HIV กับคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ คือคนเดียวกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งอันที่จริงแล้วทั้งสองอย่างให้ความหมายต่างกัน

ผู้ติดเชื้อ HIV คือ ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายแล้ว และยังไม่มีอาการป่วยใดๆ

ผู้ป่วยเอดส์ คือ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และมีอาการป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส ซึ่งหมายถึงป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่เข้ามาทำร้ายร่างกายขณะที่ร่างกายกำลังมีภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง เช่น วัณโรคในปอด เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา หรือโรคผิวหนังบางชนิด (อย่างที่เรามักจะเห็นกันว่าผู้ป่วยเอดส์มีแผลเต็มร่างกาย ซึ่งไม่ได้มาจากการเป็นโรคเอดส์ แต่มาจากโรคอื่นๆ ที่เข้าทำร้ายร่างกาย หลังภูมิคุ้มกันบกพร่อง)
ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเอดส์รักษาโรคฉวยโอกาสต่างๆ จนหายดีแล้ว ก็จะกลับมาอยู่ในสถานะผู้ติดเชื้อ HIV อีกครั้ง

เอดส์ ไม่ได้เป็นแล้วต้องมีแผลเต็มตัว แล้วสุดท้ายก็เสียชีวิต อย่างที่ใครหลายๆ คนคิด!

ปัจจุบันโรคเอดส์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด ถึงแม้จะไม่ได้รักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส HIV ซึ่งครอบคลุมอยู่ในสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อทุกคน ได้รับยาต้านไวรัสทันทีที่ตรวจพบ ยิ่งเริ่มทานยาเร็วเท่าไร ยิ่งทำให้ร่างกายแข็งแรง ภูมิคุ้มกันไม่ถูกทำลาย สามารถไปเรียน ทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนคนปกติทั่วไป
กรณีที่พบผู้ป่วยร่างกายทรุดโทรม จนต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาล จากนั้นจึงเริ่มมีแผลขึ้นตามเนื้อตามตัว และเสียชีวิตนั้น เกิดจากการที่ผู้ป่วยติดเชื้อ แล้วไม่ได้เข้ารับการรักษา ไม่ได้รับยาต้านไวรัส และเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนเท่านั้น

พบเชื้อไวรัสโรคเอดส์ได้จากไหนบ้าง

จากสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายเกือบทุกชนิด โดยระดับความเข้มข้น ดูจากปริมาณเม็ดเลือดขาว และเลือดที่อยู่ในสารคัดหลั่งนั้น เช่น
ที่พบมาก - เลือด, น้ำจากช่องคลอด, ตกขาว, น้ำจากเลือดประจำเดือน, น้ำนมแม่
ที่พบน้อย - น้ำตา, น้ำลาย, น้ำมูก, เสมหะ
แทบจะไม่พบ - อุจจาระ, ปัสสาวะ , เหงื่อ

เอดส์ ติดต่อได้ทางไหนบ้าง

1. เลือด และการถ่ายเลือด รวมถึงการใช้เข็มร่วมกัน เครื่องมือที่ไม่สะอาด มีคราบเลือดหรือน้ำเหลืองปะปน

2. ร่วมเพศ โดยไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นชายหญิง ชายชาย ไม่ว่าจะทางอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก และผ่านการ oral sex ซึ่งหมายถึงการใช้ปากกับอวัยวะเพศ หรือทวารหนักด้วย

3. จากมารดาสู่ทารก ส่วนใหญ่จะติดระหว่างการคลอด และส่วนน้อยที่ติดระหว่างอยู่ในครรภ์และระหว่างให้ลูกดูดนมแม่ แต่หากรับยาต้านไวรัสขณะฝากครรภ์ และไม่ได้ให้นมบุตร โอกาสติดเชื้อจะน้อยลงมาก

4. รับเลือดจากทางอื่นๆ เช่น ปลูกถ่ายอวัยวะ ผสมเทียมจากอสุจิที่ไม่ใช่ของสามี ฝังเข็ม เจาะหู สักยันต์ ใช้มีดโกน หรือแปรงสีฟันร่วมกัน และบาดแผลจากการเล่นกีฬาหนัก เช่น ชกมวย

ดังนั้นสรุปได้ว่า นอกจากเอดส์เป็นแล้วไม่เป็นแผล ไม่ตายแล้ว เรายังสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้อย่างปกติ สามารถทานข้าว นอนเตียงเดียวกัน (นอนเฉยๆ ) ซักผ้า กอดจูบ ใช้ห้องน้ำร่วมกัน และว่ายน้ำในสระเดียวกันได้อย่างปลอดภัยค่ะ สิ่งที่ต้องจำไว้มีเพียง อย่าให้เลือดของเขาเข้าสู่ร่างกายของเราได้เป็นพอ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เครือข่ายผู้ติดเชื่อ HIV ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์, bangkokhealth.com 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook