ข้อเท้าแพลง อาจอันตรายถึงขั้นต้องผ่าตัด

"ข้อเท้าแพลง" อย่านิ่งนอนใจ อาจอันตรายถึงขั้นต้องผ่าตัด

"ข้อเท้าแพลง" อย่านิ่งนอนใจ อาจอันตรายถึงขั้นต้องผ่าตัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข้อเท้าแพลงเกิดได้บ่อยกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่สวมรองเท้าส้นสูง นักกีฬาเทนนิส บาสเก็ตบอล ฟุตบอล แนะปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์

 

ข้อเท้าแพลง มีอาการอย่างไร?

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในชีวิตประจำวันหลายคนคงเคยข้อเท้าพลิก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมของข้อเท้า ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า ข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าแพลง เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย สาเหตุเกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกของข้อเท้าอย่างรวดเร็วจนเกินช่วงการเคลื่อนไหวที่ปกติ ทำให้เอ็นยึดข้อต่อถูกยืดออกมากจนเกินไป หรือฉีกขาดจึงเกิดการบาดเจ็บขึ้น มีอาการปวดและบวม หากรุนแรงอาจส่งผลให้เอ็นขาดทำให้ข้อเท้าหลวม และอาจเกิดการบาดเจ็บกระดูกอ่อนในข้อได้

นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการข้อเท้าแพลงแบ่งตามความรุนแรงได้ 3 ระดับ คือ 

  1. ข้อเท้าแพลงชนิดไม่รุนแรง มีอาการปวด บวม เล็กน้อย 

  2. ข้อเท้าแพลงชนิดปานกลาง มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้มีอาการปวด บวม เฉพาะที่และอาจมีเลือดคั่ง

  3. ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรง มีการฉีกขาดของเอ็นข้อเท้าทางด้านนอกทั้งหมด ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง เดินลงน้ำหนักไม่ได้ ปวด บวมมากและมีเลือดคั่ง อาจต้องผ่าตัด

 

ปัจจัยเสี่ยงของอาการ ข้อเท้าแพลง

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดข้อเท้าแพลง อาทิ

  • การก้าวพลาดหรือหกล้ม

  • วิ่งหรือก้าวเดินบนพื้นผิวขรุขระ

  • ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนจนข้อเท้าแพลง เช่น เทนนิส บาสเก็ตบอล ฟุตบอล

  • การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

  • สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับขนาดเท้า โดยเฉพาะผู้หญิงที่สวมรองเท้าส้นสูงจะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ข้อเท้าพลิก

  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ หรือมีการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้ามาก่อน 

 

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีอาการเท้าแพลง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับข้อเท้าแพลงสามารถทำได้โดย

  1. ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นในบริเวณที่บาดเจ็บอยู่ก่อนแล้ว

  2. พักการใช้งานข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ ประมาณ 2 - 3 วัน หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่

  3. ใช้น้ำแข็งห่อด้วยผ้าประคบบริเวณดังกล่าวประมาณ 15 ถึง 20 นาที 3-5 ครั้งต่อวัน เพื่อลดการอักเสบ

  4. ใช้สนับข้อเท้า หรือพันผ้าบริเวณที่บวม เพื่อช่วยป้องกันและจำกัดการเคลื่อนไหวรวมถึงลดอาการบวม โดยผ้าต้องมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสม ไม่รัด ตึงจนเกินไป และควรปลดผ้าพันออกเมื่อจะเข้านอน

  5. นอนยกข้อเท้าให้อยู่ในระดับสูงกว่าระดับหัวใจ หรืออาจนำหมอนมาหนุนที่ข้อเท้าเพื่อช่วยลดอาการบวม

  6. ที่สำคัญหลีกเลียงการประคบร้อน เพราะความร้อนจะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
     
  7. ห้ามนวดเพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไปบริเวณนั้นมากขึ้นและเพิ่มอาการบวม

  8. ห้ามวิ่ง หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องออกแรงมากเพราะจะยิ่งทำให้อาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น

  9. ห้ามดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้นและเพิ่มอาการบวม 

  10. หากปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีอาการรุนแรงที่อาจเกิดกับกระดูกหรือเนื้อเยื่อส่วนอื่นได้

 

วิธีป้องกันอาการข้อเท้าแพลง

สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดย

  1. สวมรองเท้าให้เหมาะสม

  2. หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง

  3. หากเล่นกีฬาควรสวมรองเท้าให้ถูกต้องตามชนิดของกีฬา

  4. หลีกเลียงการเดิน วิ่ง หรือกระโดด บนพื้นที่ไม่เหมาะสม

  5. ออกกำลังกายข้อเท้าเป็นประจำ 3 – 4 วันต่อสัปดาห์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook