วิธีเช็ก "มะเร็งเต้านม" ด้วยตัวเอง
อีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกก็คือ มะเร็งเต้านม ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็ง มักจะไม่แสดงอาการออกมาให้เรารู้ตัวในระยะแรกๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ลามไปถึงระยะ 3-4 แล้ว การตรวจคัดกรองจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นจะต้องทำอย่างจริงจังสม่ำเสมอ
วิธีเช็ก "มะเร็งเต้านม" ด้วยตัวเอง
ผู้หญิง 20 ปีขึ้นไป เสี่ยง "มะเร็งเต้านม"
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ในปัจจุบัน "ผู้หญิง" อายุน้อยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็น "โรคมะเร็งเต้านม" ด้วยเหตุนี้สังคมต้องเริ่มตื่นตัวเพื่อรู้เท่าทันภัยเงียบนี้ เพราะหากตรวจพบเร็ว จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น โดยผู้หญิงทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติด้วยตนเอง และตรวจเต้านมเป็นประจำ
-
สังเกตลักษณะภายนอก
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เคยให้ข้อมูลในบทความวิชาการไว้ว่า ผู้หญิงสามารถตรวจเต้านมด้วยตนเอง เริ่มต้นจากการดูเต้านมของตัวเองหน้ากระจก ประกอบด้วย 3 ท่าย่อยได้แก่
ท่าแรก : ยืนตรงแขนชิดลำตัว แล้วดูเต้านมทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่ขนาด รูปร่าง รอยบุ๋ม รอยย่น สี และการบวมของผิวหนัง ลักษณะของหัวนม และลานนม จากนั้นก็หันตัวเล็กน้อยเพื่อสังเกตด้านข้างของเต้านมทั้งสองข้างด้วย
ท่าที่ 2 : ยกมือทั้ง 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะ และขยับแขนขึ้นลง เพื่อสังเกตความผิดปกติของเต้านม ให้ดูว่าผิวหนังบริเวณเต้านมเกิดจากการดึงรั้ง หรือรอยบุ๋มมากแค่ไหน หากมีแนวโน้มเป็นมะเร็ง จะสังเกตเห็นว่ามีการดึงรั้งผิวหนังให้เกิดรอยบุ๋มได้
ท่าที่ 3 : เอามือเท้าสะเอวทั้ง 2 ข้าง จากนั้นกดและปล่อยมือ เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกเกร็งตัว และโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อให้สังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนังได้ง่ายขึ้น
-
การคลำเต้านม
ขั้นตอนต่อไปคือ การคลำที่เต้านม ผู้หญิงสามารถทำได้ทั้งในท่านั่งและท่านอน โดยใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางบริเวณค่อนไปทางปลายนิ้ว การคลำเต้านมมี 3 แบบคือ
คลำเป็นก้นหอย :คลำเป็นก้นหอยหรือตามเข็มนาฬิกา (Clock Pattern) เริ่มคลำจากส่วนบนหัวนม วนเลื่อนนิ้วมือตามเข็มนาฬิกา เป็นวงกลม ขยายวงออกไปเรื่อยๆ จนถึงฐานเต้านมและบริเวณรักแร้
คลำขึ้นลง : คลำตามแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว (Vertical Strip) เริ่มคลำจากส่วนล่างด้านนอกของเต้านมเป็นแนวยาวถึงกระดูกไหปลาร้า โดยใช้นิ้วมือทั้ง 3 คลำในแนวขึ้นลง สลับกันไปมาให้ทั่วเต้านม
คลำเป็นรัศมี : คลำรอบเต้านมแบบรัศมี (Wedge Pattern) เริ่มคลำจากส่วนบนเต้านมจนถึงฐาน และขยับนิ้วมือจากฐานถึงหัวนม เป็นรัศมีรอบเต้านมถึงกระดูกไหปลาร้าและบริเวณรักแร้
-
บีบหัวนม
ให้ผู้หญิงบีบบริเวณหัวนมและลานหัวนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีน้ำผิดปกติออกมาหรือไม่ หากตรวจพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
สิ่งผิดปกติที่ต้องรีบมาพบแพทย์
เมื่อตรวจตามขั้นตอนที่แนะนำ คือ ดูและคลำดูแล้ว หากผู้หญิงมีข้อสงสัยหรือพบสิ่งผิดปกติเหล่านี้ ต้องรีบมาพบแพทย์ คือ
- หัวนมถูกดึงรั้งผิดปกติ
- มีน้ำเลือดและน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม หรือเป็นแผลผิวหนังหัวนมถลอก
- ผิวหนังที่เต้านมและฐานหัวนมมีรอยบุ๋ม หรือรอยนูน หรือผิวกร้านเหมือนผิวส้ม หรือเป็นแผล หรือผิวหนังฉีกขาดมีน้ำเลือดและน้ำเหลืองไหล
- เต้านมทั้ง 2 ข้างมีขนาดและรูปร่างต่างกัน ชัดเจน ไม่อยู่ในระดับเดียวกัน
- คลำได้ก้อนมะเร็งผิดปกติกลิ้งได้หรือยึดติดกับเนื้อเยื่อส่วนล่าง หรือดึงรั้งผิวหนัง
- คลำได้ก้อนที่รักแร้หรือเหนือไหปลาร้า
"ผู้หญิง" ควรตรวจเต้านมบ่อยมั้ย?
- ตรวจเต้านมด้วยตนเองได้ทุกวัน หรืออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับตรวจคัดกรอง คือ 7 วัน หลังจากมีประจำเดือน
- ก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านม ไม่ใช่มะเร็งเสมอไป อาจเป็นเพียงถุงน้ำหรือก้อนเนื้องอกธรรมดาก็เป็นได้
- หากพบสิ่งผิดปกติใดๆ บริเวณเต้านมควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
- มะเร็งเต้านมรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก
วิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยง "มะเร็งเต้านม"
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม
- ควรลดความเครียด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิง
นอกจากตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตัวเองแล้ว "ผู้หญิง" ก็ควรไปตรวจโดยแพทย์เป็นประจำทุกปี และควรตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (แมมโมแกรม) ในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป
>> 9 สาเหตุ “มะเร็งเต้านม” โรคที่คร่าชีวิตชาวไทยจำนวนไม่น้อยทุกปี
>> “เสาวรส” ทานมาก เสี่ยง “มะเร็งเต้านม” จริงหรือ?
>> ทำไมผู้หญิงถึงเป็น “ถุงน้ำในเต้านม”? อาการแตกต่างจาก “มะเร็งเต้านม” อย่างไร?