"คันทวารหนัก" อาจอันตราย เสี่ยง "พยาธิ"

"คันทวารหนัก" อาจอันตราย เสี่ยง "พยาธิ"

"คันทวารหนัก" อาจอันตราย เสี่ยง "พยาธิ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พญ.เปรมจิต  ไวยาวัจมัย
ภาควิชาปรสิตวิทยา 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

อาการคันบริเวณทวารหนัก (Anal pruritus) เป็นผลจากการมีการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณรูเปิดทวารหนัก และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสาเหตุของการคันอาจเกิดได้จาก การได้รับสารที่ฤทธิ์ระคายเคืองเช่น การรับประทานอาหารรสจัด ยาปฏิชีวนะบางชนิด การสัมผัสสิ่งกระตุ้นให้ระคายเคืองเช่น การใช้กระดาษชำระที่มีผลต่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อรอบทวารหนัก การระคายเคืองจากสารบางชนิดในอุจจาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท้องเสียหรือถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ การมีริดสีดวงทวารหนัก ผื่นจากโรคทางผิวหนังและการติดเชื้ออื่นๆ บริเวณทวารหนักเช่น พยาธิเข็มหมุด เชื้อรา ยีสต์บางชนิด และหูดเป็นต้น  สำหรับในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวมีอาการเช่นเดียวกัน นอกจากสิ่งกระตุ้นที่ให้เกิดการระคายเคืองแล้ว การติดเชื้อที่สำคัญและพบบ่อยคือ การติดเชื้อจากพยาธิเข็มหมุด (Pinworm) หรือบางครั้งเรียกว่าพยาธิเส้นด้าย (Threadworm)

พยาธิเข็มหมุด (Enterobius vermicularis) คืออะไร

พยาธิเข็มหมุดคือพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 2-10 มิลลิเมตรสีซีด รูปร่างคล้ายเข็มหมุดหรือเส้นด้ายเมื่อมองด้วยตาเปล่า จึงทำให้เรียกกันว่าพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย อาศัยในทางเดินอาหารโดยเฉพาะทางเดินอาหารส่วนล่าง พยาธิชนิดนี้จะแย่งกินอาหารของคน และทำให้เกิดอาการคันรอบทวารหนัก พบมากในเด็กวัยเรียนอายุประมาณ 5-8 ปีและพบมากในกลุ่มเด็กที่อยู่รวมกันเช่นเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนประจำ

พยาธิเข็มหมุดติดต่อได้อย่างไร

เมื่อพยาธิเข็มหมุดเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ในระบบทางเดินอาหารของคนแล้ว พยาธิตัวผู้จะตายไป ส่วนพยาธิตัวเมียจะออกมาวางไข่บริเวณรูเปิดทวารหนักโดยเฉพาะในเวลากลางคืน หลังจากนั้น 4-6 ชั่วโมงไข่จะสามารถเจริญเป็นไข่ระยะติดต่อได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม การที่มีไข่พยาธิบริเวณทวารหนักจะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้คัน เมื่อเด็กหรือผู้ติดเชื้อเกาบริเวณทวารหนัก ไข่ของพยาธิจะติดไปตามเล็บ ง่ามนิ้วมือ หรืออาจตกลงไปบนที่นอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าได้   การติดต่อของพยาธิเข็มหมุดเกิดได้หลายวิธีทั้งทางตรงและทางอ้อม 

  1. จากการรับประทาน

หลังจากที่เด็กเกาบริเวณทวารหนัก ไข่ระยะติดต่อจะติดอยู่ตามง่ามนิ้วมือ เล็บและสามารถกลับสู่ทางเดินอาหารได้เมื่อเด็กเอามือเข้าปาก อมนิ้ว หรือการหยิบอาหารเข้าปากเป็นต้น นอกจากนี้ไข่พยาธิที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผ้าห่มของใช้ในบ้านก็เป็นตัวกลางให้เด็กจับและนำมาเข้าปากได้เช่นกัน 

  1. จากการหายใจ

ไข่พยาธิที่ตกบนเตียง ที่นอนสามารถฟุ้งกระจายในอากาศ และเมื่อสูดดมก็ทำให้ได้รับไข่พยาธิเข้าไปในทางเดินหายใจ เนื่องจากทางเดินหายใจและทางเดินอาหารมีบางส่วนต่อเนื่องกัน ทำให้เด็กกลืนไข่พยาธิลงไปในทางเดินอาหารได้

  1. จากการติดเชื้อย้อนกลับทางทวารหนัก

ในสภาวะที่เหมาะสม ไข่พยาธิสามารถทนอยู่ได้นานถึง 3 สัปดาห์และเจริญต่อเป็นตัวอ่อนซึ่งจะชอนไชกลับเข้าไปทางทวารหนักและทางเดินอาหารต่อไปได้

 

อาการจากการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดเป็นเช่นไร

ส่วนมากมักไม่ทำให้เกิดอาการ ในกรณีที่มีอาการ อาการที่พบบ่อยคือการคันบริเวณทวารหนักโดยเฉพาะในเวลากลางคืน นอกจากทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิท กระสับกระส่าย ร้องกวนแล้ว บางครั้งเมื่อเกามากทำให้เกิดแผลถลอกและเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ถ้ามีพยาธิจำนวนมากชอนไชในเยื่อบุลำไส้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุผนังลำไส้ มีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร ในบางกรณีที่มีการติดเชื้อย้อนกลับโดยกลับเข้าทางช่องคลอดในเพศหญิง พยาธิจะชอนไชไปในช่องคลอด มดลูกทำให้เกิดการอักเสบทางอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงโดยมีอาการคันและตกขาวร่วมด้วย

 

เราจะวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดได้อย่างไร

จากประวัติข้างต้น การตรวจร่างกายที่มีลักษณะการอักเสบบริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก และการตรวจทางห้องปฏิบัติเพื่อหาไข่พยาธิ โดยใช้สก๊อตเทปติดบริเวณทวารหนักหลังตื่นนอนตอนเช้าทันที แล้วนำมาตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์

 

เราจะรักษาการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดอย่างไร

ให้ยาถ่ายพยาธิ Albendazole 400 mg หรือ Mebendazole 100 mg หนึ่งครั้ง หลังจากนั้นให้ยาซ้ำอีกภายใน 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ สำหรับยาถ่ายพยาธิชนิดนี้ควรหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี นอกจากนี้ควรให้ยารักษาทั้งครอบครัว ถึงแม้ว่าบุคคลในครอบครัวจะยังไม่มีอาการก็ตามเพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย

 

เราจะป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้อย่างไร

ควรหมั่นรักษาความสะอาดร่างกายและของใช้ต่างๆ เช่นเสื้อผ้า ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ตัดเล็บมือให้สั้น ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ อาบน้ำตอนเช้าเพื่อลดการสัมผัสไข่พยาธิและหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณทวารหนัก

 

 

___________________

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook