6 สาเหตุที่ทำให้เรากลายเป็นคน “ขี้ลืม”
ไม่มีใครไม่อยากเป็นคนขี้ลืม จริงไหม? เพราะเมื่อไรที่เราเริ่มลืมอะไรบางอย่างบ่อยๆ เข้า ก็เริ่มเป็นสัญญาณว่าเรา “อายุมากขึ้น” แล้ว ยิ่งถ้าเรายังอยู่ในวัยเรียน วัยทำงาน หากหลงๆ ลืมๆ บ่อยๆ คงทำให้เกรดตก ทำงานได้ไม่ดีอย่างที่ใจคิดแน่ๆ
หากคุณยังไม่ได้ขี้ลืมถึงขั้นเป็นโรคอัลไซเมอร์ Sanook! Health พอจะระบุหาสาเหตุของอาการขี้หลงขี้ลืมเหล่านี้ได้ จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Harvard Health Publishing
6 สาเหตุที่ทำให้เรากลายเป็นคน “ขี้ลืม”
-
นอนไม่พอ
สังเกตตัวเองได้ง่ายๆ เลยว่า หากวันนั้นเบลอๆ มึนๆ งงๆ สมองทำงานช้า คิดอะไรไม่ทัน ตัดสินใจได้ช้าลง ก็ลองถามตัวเองดูว่าเมื่อคืนนอนกี่ชั่วโมง หรือช่วงนี้ได้นอนคืนหนึ่งต่ำกว่า 5-6 ชั่วโมงหรือไม่ นอกจากการพักผ่อนน้อยจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราขี้ลืมได้แล้ว ยังทำให้เรามีอารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวได้ง่าย และยังเสี่ยงมีอาการวิตกกังวล ที่สามารถนำไปสู่ภาวะหลงลืมได้อีกด้วย
-
การรักษาโรคบางชนิด
หากคุณกำลังรักษาโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องกินยาระงับประสาท ยาแก้ซึมเศร้า ยาควบคุมความดันโลหิตบางชนิด และการรักษาโรคบางที อาจมีผลต่อการทางด้านความจำของสมอง อาจทำให้ผู้ที่ได้รับยาเหล่านี้มีสมาธิที่จะจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ยากมากยิ่งขึ้น หากคิดว่ายาที่กินอยู่มีผลกระทบต่อการจำ ลองปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อลองหาสาเหตุที่แท้จริง หรือพิจารณายาตัวใหม่แทน
-
ภาวะขาดไทรอยด์
ภาวะขาดไทรอยด์ หรือไฮโปไทรอยด์ อาจส่งผลต่อความสามารถในการจดจำได้เช่นกัน (รวมทั้งอาการข้างเคียงที่เกิดจากภาวะขาดไทรอยด์ ได้แก่ การถูกรบกวนขณะนอนหลับ ที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และอาจเป็นสาเหตุที่ลดความสามารถในการจดจำได้ด้วย) หากอยากรู้ว่าตัวเองเสี่ยงภาวะขาดไทรอยด์หรือไม่ สามารถขอเข้ารับตรวจโลหิตเพื่อหาภาวะขาดไทรอยด์ได้
-
แอลกอฮอล์
รู้หรือไม่ว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำลายความทรงจำระยะสั้นได้ แม้ว่าปริมาณมากน้อยในแต่ละคนที่จะส่งผลกระทบต่อความทรงจำระยะสั้นนั้นจะแตกต่างกันก็ตาม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะกับตัวเอง โดยแพทย์แนะนำง่ายๆ ว่า ผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 แก้ว ส่วนผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว
-
ความเครียด วิตกกังวล
หากคุณสังเกตว่าช่วงนี้สมองคุณมีเรื่องให้ต้องคิดอย่างหนักตลอดเวลา อาจทำให้คุณละเลยข้อมูลอื่นๆ ใหม่ๆ รอบตัวที่เกิดขึ้นมาได้ เพราะว่าคุณจะไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นๆ นั่นเอง
-
ภาวะซึมเศร้า
อาการบ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าที่สังเกตได้ง่าย คือไม่ร่าเริงสดใส หน้านิ่งไม่ไหวติง ไม่มีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำอะไร และมีความสุขน้อยลงกับกิจกรรม หรือบางสิ่งบางอย่างที่เคยมอบความสุขให้มาก่อน นั่นจึงรวมไปถึงการทำงานของสมองที่เลือกที่จะไม่จดจำอะไรเป็นพิเศษไปด้วย
หากคุณสงสัยว่าตัวเองหลงลืมผิดปกติ ควรรีบปรับพฤติกรรมต่างๆ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความตึงเครียดลง ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หากไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป