ปวดท้องแบบไหน “ไส้ติ่ง” ถามหา?
“ปวดท้องมากขนาดนี้ เป็นไส้ติ่งหรือเปล่า?” เราอาจจะเคยได้ยินคำถามแบบนี้กันมาบ้าง เมื่อตัวเราเอง หรือคนที่อยู่ข้างๆ เรามีอาการปวดท้องมากๆ แต่อาการปวดท้องเป็นอาการเบื้องต้นของหลายๆ โรค แบบไหนถึงจะเป็นอาการปวดท้องไส้ติ่งกันนะ
ไส้ติ่ง มีหน้าที่อะไร?
หลายคนที่ได้ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เช่น ผ่าคลอด อาจจะรบกวนหมอให้ตัดไส้ติ่งออกไปด้วย เพื่อป้องกันไส้ติ่งอักเสบในอนาคต เพราะมักคิดว่าไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ในร่างกาย
อันที่จริงแล้ว ไส้ติ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บแบคทีเรีย ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร และช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ไส้ติ่งก็เป็นอวัยวะที่อาจจะเกิดการอักเสบได้ง่าย เนื่องจากมีลักษณะที่สามารถมีเศษอุจจาระขนาดเล็กเข้าไปอุดตันจนทำให้อักเสบ ติดเชื้อ บวม ติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย และอาจอันตรายไปถึงก้อนเนื้อมะเร็งได้
ปวดท้องไส้ติ่งอักเสบ มีอาการอย่างไร?
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาการของไส้ติ่งอักเสบจะมีอาการปวดที่แตกต่างจากการอาการปวดท้องของโรคอื่นๆ ดังนี้
- ปวดท้องอย่างเฉียบพลันบริเวณรอบสะดือ ต่อมาย้ายไปปวดที่ท้องด้านล่างขวา
- ปวดมากขึ้นขณะเคลื่อนไหวขยับตัว ไอจาม
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร
- อาจมีท้องเสียท้องอืด
- อาจมีไข้
- อาจมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากการอักเสบของไส้ติ่งไปกระตุ้นท่อไตซึ่งอยู่ใกล้กัน
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากเข้าสู่ระยะรุนแรงไส้ติ่งอาจแตกได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน สำหรับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
การผ่าตัดมี 2 ประเภท คือ
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ในระยะที่ไม่รุนแรง เป็นการผ่าตัดเล็ก สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็ว
- การผ่าตัดแบบเปิดในกรณีระยะรุนแรงถึงขั้นไส้ติ่งแตก ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานเพราะนอกจากจะต้องนำไส้ติ่งที่แตกออกแล้วยังต้องทำความสะอาดภายในช่องท้องด้วย
วิธีลดความเสี่ยงเป็นไส้ติ่งอักเสบ
เราสามารถลดความเสี่ยง โดยป้องกันไม่ให้มีอาการท้องผูก รับประทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงและรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น