“หมูกระทะ” กับอันตรายเสี่ยงท้องร่วง จากการใช้ “ตะเกียบ” คีบอาหาร

“หมูกระทะ” กับอันตรายเสี่ยงท้องร่วง จากการใช้ “ตะเกียบ” คีบอาหาร

“หมูกระทะ” กับอันตรายเสี่ยงท้องร่วง จากการใช้ “ตะเกียบ” คีบอาหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนชอบรับประทานเมนูยอดฮิตอย่าง “หมูกระทะ” คงจะต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เมื่อมีเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายจากหมูกระทะมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นเรื่องที่คุณมองข้าม แม้ว่าจะพยายามระวังตัวแล้วก็ตาม


หมูกระทะนั่งกินที่ร้าน ก็เสี่ยงอันตราย

หมูกระทะที่รับประทานกันแล้วเกิดอันตราย นอกจากเป็นเรื่องของสุขอนามัย คุณภาพ ความสะอาดของอุปกรณ์ และวัตถุดิบแล้ว การรับประทานหมูดิบก็ทำให้เสี่ยงโรคได้เช่นกัน อย่างที่หลายคนเคยได้ยินอาการ “ไข้หูดับ” (>> กินหมูสุกๆ ดิบๆ เสี่ยง “โรคไข้หูดับ”) โดยเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ซึ่งพบได้ในหมูดิบ

ตะเกียบ ตัวการเสี่ยงอันตรายจากหมูดิบ

แม้ว่าเชื้อโรคนี้จะถูกทำงายด้วยความร้อน (ที่มากพอ) การกินหมูสุก 100% จึงปลอดภัยค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้คือ แม้ว่าจะปิ้งย่างหมูจนสุกก่อนรับประทานแล้ว แต่หากใช้ “ตะเกียบ” คีบหมูดิบมาปิ้งย่าง แล้วใช้ตะเกียบคู่เดิมคีบหมูที่สุกแล้วเข้าปาก เชื้อโรคที่ติดมากับตะเกียบตอนคีบเนื้อหมูดิบ ก็อาจติดไปกับหมูที่ปิ้งจนสุก แล้วเข้าปากเราได้อยู่ดี

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด จึงควรขอตะเกียบเพิ่มอีกคู่ แยกใช้ระหว่างคีบเนื้อดิบ กับคีบเนื้อที่สุกแล้วเข้าปากกันคนละคู่ หรือใช้ที่คีบเนื้อในการคีบเนื้อดิบเท่านั้น ห้ามใช้ตะเกียบตัวเอง


หมูกระทะเดลิเวอรี เสี่ยงอันตราย

หน้าร้อนที่หลายคนเริ่มไม่อยากออกจากบ้าน และใช้บริการสั่งอาหารมาส่งแทน จึงทำให้ร้านหมูกระทะหลายเจ้าเริ่มเปิดบริการส่งวัตถุดิบพร้อมกระทะให้ปิ้งย่างกันที่บ้าน พร้อมบริการมาเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ให้ที่บ้านในภายหลัง

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า การจัดส่งวัตถุดิบของเมนูหมูกระทะส่วนใหญ่เป็นของสด ทั้งเนื้อหมู ผัก และน้ำจิ้มปรุงรส ทำให้บางพื้นที่พบว่ามีกลุ่มแรงงานต่างด้าวทำการลักลอบขายหมูกระทะที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยทำป้ายโฆษณาเลียนแบบยี่ห้อหมูกระทะร้านต่างๆ ถือว่ามีความผิดประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนโทรสั่งจำนวนมากเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นร้านหมูกระทะทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าหมูกระทะเหล่านี้มีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ วัตถุดิบ อุปกรณ์ และภาชนะบรรจุอาหารไม่สะอาดและไม่มีคุณภาพ ผู้ปรุงประกอบอาหารไม่มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี ทำให้เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีต่างๆ ส่งผลให้เมื่อบริโภคมีโอกาสเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารตามมาได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในบางจังหวัด

น้ำจิ้มก็เสี่ยงอันตราย

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงความสะอาดที่คู่กันกับหมูกระทะคือน้ำจิ้ม ซึ่งมักทำน้ำจิ้มไว้ในปริมาณมากและทิ้งไว้นาน หรือหากปรุงโดยไม่ถูกสุขอนามัยและเก็บรักษา ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เสี่ยงท้องร่วงได้เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคจึงควรสังเกตจากสี กลิ่น และรสชาติ หากพบความผิดปกติไม่ควรกิน และแจ้งเจ้าของร้านทันที


หากอยากรับประทานหมูกระทะให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ควรเริ่มจากการเลือกร้านที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ แยกตะเกียบที่คีบระหว่างของดิบ และของสุก หรือใช้เฉพาะที่คีบกับของสดเท่านั้น ไม่รับประทานน้ำจิ้มมากจนเกินไป และหากอยากให้แน่ใจจริงๆ ควรเลือกซื้อวัตถุดิบมาทำเองที่บ้านจะปลอดภัยที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook