หน้ามืด-บ้านหมุน หลังก้มตัวหรือก้มหน้า เกิดจากอะไร?
เชื่อว่าหลายคน เคยมีอาการ เวียนหัวบ้าง บ้านหมุนบ้าง ก้มตัวแล้วเวียนหัว เลยขึ้นแล้วบ้านหมุน แต่อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมักเป็นอยู่ในช่วงสั้นๆ และหาสาเหตุไม่ได้ อย่าชะล่าใจคิดว่าไม่เป็นอะไรนะ เพราะอาการเวียนหัวเหมือนบ้านหมุนอาจเป็นอาการเริ่มแรก หรือสัญญาณเตือนของโรคที่ซ่อนอยู่ในร่างกายเราได้
มาค้นหาสาเหตุให้รู้กันว่า อาการเวียนหัวบ้านหมุนเกิดจากอะไรได้บ้าง?
อาการบ้านหมุน เกิดจากอะไรได้บ้าง?
- โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (benign paroxysmal positioning vertigo: BPPV)หรืออาจเรียกว่าโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน ที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน โดยปกติภายในหูชั้นในจะมีอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยิน ในอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวมีตะกอนหินปูนที่เคลื่อนไปมา พอเจ้าตะกอนหินปูนส่วนนี้หลุด ทำให้ตะกอนหินปูนนี้เคลื่อนที่ไปมา และส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนขึ้นได้
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการสร้างน้ำในหูชั้นในมากขึ้น และท่อทางเดินน้ำในหูชั้นในแคบ ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก มีการดูดซึมน้ำในหูชั้นในกลับน้อยกว่าปกติ หรือเกิดจากภาวะภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน ได้
- การอักเสบของหูชั้นใน (labyrinthitis) หูชั้นในอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักมีประวัติการ เป็นหวัด หรือระบบทางเดินหายใจอักเสบนำมาก่อน แต่ก็อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การบาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะเครียด ภูมิแพ้ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิดก็ได้
- โรคเนื้องอกประสาทหู (acoustic neuroma) เป็นเนื้องอกที่เกิดจาก เส้นประสาทหูซึ่งอยู่ชิดกับสมองภายในกะโหลกศีรษะ เป็นเนื้องอกภายในกะโหลกศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรง เชื่อว่าอาจเกิดจากการอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการเวียนหัว บ้านหมุน หูอื้อ มีเสียงรบกวนในหูแล้ว อาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น เดินโซเซ หรืออาการทางสมองอื่นๆ
นอกจากสาเหตุโรคต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว อาการบ้านหมุนยังเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการทรงตัว
ดังนั้นหากพบว่ามีอาการผิดปกติเริ่มแรกจากเวียนหัวลุกขึ้นยืน ก้มตัวแล้วเวียนหัว เดินเซ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ และรักษาต่อไป