โหย “ของหวาน” เพราะขาด หรือ “อยาก” น้ำตาลกันแน่?

โหย “ของหวาน” เพราะขาด หรือ “อยาก” น้ำตาลกันแน่?

โหย “ของหวาน” เพราะขาด หรือ “อยาก” น้ำตาลกันแน่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อากาศร้อนๆ ในบ้านเรา อาจทำให้โหยหาอยากดื่มอะไรที่สดชื่น และหลายคนก็มักจะมองหาเครื่องดื่มน้ำตาลสูงอย่าง น้ำอัดลม เพราะนอกจากความซ่าจะทำให้เราสดชื่นขึ้นทันตาเห็นแล้ว น้ำตาลในเครื่องดื่มนั้นๆ ยังช่วยเพิ่มพลังให้เราได้อีกในทันทีอีกด้วย แต่ทุกครั้งที่เราอยากดื่ม หรือรับประทานอาหารหวานๆ เป็นเพราะร่างกายของเราต้องการพลังงานจากน้ำตาลทันทีจริงๆ หรือว่าแค่ “อยาก” น้ำตาลเท่านั้น

Sugar Rush เป็นคำภาษาอังกฤษที่เอาไว้ใช้เรียกอาการอยากน้ำตาล หรืออาหารหวานๆ ขึ้นมาอย่างกะทันหัน โดยมีความเชื่อว่า เมื่อร่างกายต้องการน้ำตาล ส่งสัญญาณอาการ “อยาก” รับประทานอาหารหวานๆ ขึ้นมา เพราะร่างกายอ่อนเพลีย และต้องการพลังงานเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ต่อไปในวันนั้นๆ เราจึงหันไปหยิบอาหารหวานๆ เพื่อรับประทานแล้วจะรู้สึกสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า พร้อมลุยกิจกรรมต่างๆ ในวันนั้นต่อได้อีกยาวๆ แต่อันที่จริงแล้ว อาการ “อยาก” อาหารหวานๆ อาจไม่ได้มาจากอาการที่ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย จนต้องการน้ำตาลทันทีทันใดนั้นเสมอไป

Konstantinos Mantantzi นักประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Humboldt ในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เผยว่า

“ความเชื่อในเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องการบริโภคคาร์โบไฮเดรตทำให้เด็กๆ ร่าเริง กระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว”

จากการวิเคราะห์ของ Konstantinos Mantantzi และเพื่อนนักวิจัย ที่ตีพิมพ์ใน Neuroscience & Biobehavioral Reviews เผยให้เห็นถึงผลกระทบของการบริโภคคาร์โบไฮเดรต หรือน้ำตาล ที่มีต่อสภาวะทางอารมณ์ ผลปรากฏว่า การบริโภคน้ำตาลไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อสภาวะทางอารมณ์ของผู้บริโภคเลย แถมยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้ากว่าเดิมหลังบริโภคคาร์โบไฮเดรตไปตั้งแต่ชั่วโมงแรก

“เราหวังว่าผลของการวิเคราะห์ในครั้งนี้จะช่วยลบความเชื่อเรื่องความ ‘อยาก’ น้ำตาล ลงไปได้บ้าง เพราะมันยังคงเป็นอาการที่ผลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ออกมาแล้วว่าไม่เป็นความจริง แถมยังส่งผลเสียต่อสภาวะทางอารมณ์ในภายหลังด้วย ดังนั้นการบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อการพัฒนาสภาวะทางอารมณ์ และคุณภาพความเป็นอยู่ในชีวิตให้ดีขึ้นได้”

ดังนั้น ควรสำรวจอาการของตัวเองให้ดีว่า กำลังอยากรับประทานอาหารหวานๆ ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลจำนวนมาก เพราะรู้สึกขาดพลังงานจริงๆ หรือเพียงเพราะ “อยาก” เครื่องดื่ม หรือขนมอร่อยๆ เท่านั้น สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติอยู่เสมอ รู้ว่าตอนไหนควร หรือไม่ควรรับประทานอะไร หากรู้ตัวว่าอยากรับประทานอาหารหวาน เพราะแค่อยากจริงๆ อาจลองหันไปรับประทานอาหารที่ให้พลังงานแต่ไม่หวาน หรือหวานน้อยดู เช่น เนื้อสัตว์ไร้หนัง ไร้มัน ถั่ว โยเกิร์ตรสธรรมชาติ หรือแกงจืดเต้าหู้สาหร่ายอุ่นๆ สักถ้วยก็ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook