รู้ไว้! “เครื่องหมาย อย.” ไม่ได้มีในผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกประเภท
การจะเช็กว่าสินค้า หรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ปลอดภัยต่อการบริโภค อุปโภคหรือไม่ สิ่งแรกๆ ที่หลายคนพยายามพลิกมองหาที่ข้างบรรจุภัณฑ์คงหนีไม่พ้น “เครื่องหมาย อย.” ที่การันตีความปลอดภัยให้กับเราได้มาก เพราะเป็นสัญลักษณ์ว่าสินค้าชนิดนั้นๆ ไม่มีสาร หรือส่วนผสมใดๆ ที่ทำร้ายสุขภาพได้ แต่ทราบหรือไม่ว่าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกประเภทที่มีเครื่องหมาย อย.
ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมาย อย.
- อาหาร ปรากฎเป็นเลขสารบบอาหาร 13 หลักบนฉลาก สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ไม่กำหนดให้ต้องขอเลข อย. แต่สามารถยื่นขอได้ โดยสถานที่ผลิตต้องผ่านหลักเกณฑ์
- เครื่องมือแพทย์ต้องมีใบอนุญาต แสดงเป็นตัวอักษร ผ. หมายถึง ผลิต หรือ น. หมายถึง นำเข้า ตามด้วยเลข 2 หลัก / ปี พบได้ใน ถุงยางอนามัย ถุงมือยางสำหรับศัลยแพทย์ ชุดตรวจเชื้อ HIV คอนแทคเลนส์ เป็นต้น
- วัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือน ต้องมีเลขทะเบียนในกรอบเครื่องหมาย อย. เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกัน/กำจัด/ไล่แมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่ใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิว
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ไม่มีเครื่องหมาย อย.
- ยา จะแสดงเลขทะเบียนตำรับยาแทน เช่น 1A 12/35 หมายถึง ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ ผลิตภายในประเทศไทย มีตัวยาออกฤทธิ์เพียงตัวเดียว ลำดับทะเบียนเลขที่ 12 ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2535
- เครื่องสำอาง จะแสดงเลขที่ใบรับแจ้ง เป็นตัวเลข 10 หลักบนฉลาก
- เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียด ต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง ได้แก่ เครื่องที่ใช้เพื่อกายภาพบำบัด เครื่องตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย เต้านมเทียมซิลิโคน ส่วนเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. และเลขที่ใบรับแจ้ง เช่น เตียงผ่าตัด เครื่องตรวจวัดความดันโลหิต
- วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนบางประเภท ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีเลขที่รับแจ้ง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ และวัตถุต่างๆ ที่มีสารที่ อย. กำหนด
หากผู้บริโภคเข้าใจที่มาที่ไปของตัวเลขที่อยู่บนฉลากมากขึ้น และคอยสังเกตตัวเลขเหล่านี้ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ก็จะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ถูกต้อง ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายของเรา และคนที่เรารักได้มากขึ้นเช่นกัน