“ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง” ประโยชน์-ข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนซื้อใช้
ข่าวดีของคนไทย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. อนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการตรวจคัดกรองแทนที่ต้องไปตรวจที่สถานพยาบาล
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การอนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองในครั้งนี้เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยเรื่องการยุติปัญหาเอดส์ โดย อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 และมีผลบังคับทันที
อย่างไรก็ตาม นอกจากประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว การใช้ชุดตรวจคัดกรองเชื้อ HIV ด้วยตัวเอง มีข้อควรทราบ และควรระวังอยู่ด้วยเช่นกัน
ข้อดีของชุดตรวจเชื้อ HIV ด้วยตัวเอง
การมีชุดตรวจเชื้อ HIV ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้ตัวเองมีอาการ หรือพบการติดเชื้อในระยะที่ทำการรักษาลำบาก ยิ่งเจอก่อน ยิ่งรักษาได้ง่าย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ตามปกติได้ นอกจากนี้ยังลดภาระของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่มีบางคนไปบริจาคเลือดเพื่อหวังตรวจหาเชื้อ HIV ทางอ้อมอีกด้วย (ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ควรอย่างยิ่ง)
ข้อควรทราบ-ควรระวัง เมื่อใช้ชุดตรวจเชื้อ HIV ด้วยตัวเอง
การตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องทำความเข้าใจวิธีการใช้ วิธีอ่านค่าอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ผลที่ใกล้เคียงกับความจริงให้ได้มากที่สุด ในกรณีที่ใช้เครื่องตรวจไม่ถูกต้อง เช่น อ่านค่าจากชุดตรวจผิด ใช้ตรวจผิดเวลา หรือแม้กระทั่งการตรวจเพียงครั้งเดียว อาจไม่สามารถยืนยันผลการตรวจได้แน่ชัด 100% นอกจากนี้การตรวจเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ ยังอาจทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจมากขึ้นไปด้วย
หากใช้ชุดตรวจดังกล่าวแล้วพบว่ามีปฏิกิริยา (reactive) ต้องได้รับการตรวจยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีจากหน่วยบริการที่สามารถตรวจยืนยันวินิจฉัยได้อีกครั้งหนึ่งเสมอ ไม่ควรตรวจเองเพียงครั้งเดียวแล้วเข้าใจว่าตัวเองติด/ไม่ติดเชื้อไปเอง เพราะชุดตรวจเป็นการตรวจสอบเพียงเบื้องต้นเท่านั้น
ดังนั้น การมีชุดตรวจเชื้อ HIV ด้วยตัวเองวางจำหน่ายให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น โดยในเรื่องของคุณภาพของชุดตรวจนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ชุดตรวจนี้จะมีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานของชุดตรวจ ลักษณะภาชนะบรรจุของชุดตรวจ การแสดงฉลาก เช่น ข้อบ่งใช้ วิธีการใช้ วิธีการเก็บรักษา คำเตือน ข้อควรระวัง องค์ความรู้เกี่ยวกับระยะการตรวจหาการติดเชื้อไม่พบของชุดตรวจนั้นๆ แบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ช่องทางการให้ข้อมูลสนับสนุนของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าในการใช้ชุดตรวจดังกล่าวผ่าน QR Code สาธิตวิธีการตรวจ การสรุปผล การเชื่อมเข้าสู่ระบบบริการ และการแปลผลด้วย