พฤติกรรมทำ “สมองฝ่อ” ที่ควรหลีกเลี่ยงตั้งแต่อายุยังน้อย
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เตือนหากมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสมองอาจทำให้สมองฝ่อ ส่งผลกระทบต่อความจำ อารมณ์และพฤติกรรม แนะเลี่ยงพฤติกรรมร้ายทำลายสมอง
สาเหตุของโรคสมองฝ่อ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคสมองฝ่อเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ สาเหตุหลัก คือการเสื่อมของเซลล์สมองเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดโรคสมองฝ่อ เช่น การนอนที่ไม่มีคุณภาพ สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด ซึ่งทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนซึ่งส่งผลร้ายต่อร่างกายและสมอง
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สมองฝ่อคือภาวะที่ปริมาณเนื้อสมองลดลง เป็นการเสื่อมของอวัยวะในร่างกายตามธรรมชาติ แต่เกิดกับสมองและมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุวัย 75 ปีขึ้นไป โดยมีปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุ เช่น
- การเสื่อมของสมองตามวัย
- เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะกระทบกระเทือนสมอง
- การทานยาบางชนิด
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น การขาดวิตามินบี12 โรคติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสมอง เช่น ภาวะความเครียด พักผ่อนน้อย เป็นต้น
โดยพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพสมองอย่างชัดเจน คือการอยู่ในสภาวะเครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการพักผ่อนที่น้อยเกินไป จะบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานของสมองได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
อาการของโรคสมองฝ่อ
ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้
- ลืมสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้น
- ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลง
- ความจำเสื่อม หลงลืม
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
วิธีรักษาโรคสมองฝ่อ
หากพบสาเหตุที่แก้ไขได้ จะให้การรักษาตามสาเหตุและให้การรักษาตามอาการ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- หลีกเลี่ยงรับประทานยาที่มีผลต่อการทำงานของสมอง
- ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยกับการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย
- ให้ผู้ป่วยกินอาหารครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
วิธีป้องกันการเกิดโรคสมองฝ่อ
เราสามารถป้องกันโรคสมองฝ่อได้หากปรับพฤติกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อสมอง อาทิ หมั่นออกกำลังกายสมองเช่น ฝึกคิด การเล่นหมากรุก ฝึกคิดเลข รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นต้น