“หลอดเลือดหัวใจ” รักษาด้วยสายสวนผ่านข้อมือ เทคนิคใหม่ แผลเล็ก-หายเร็ว
รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการเกาะของคราบไขมัน พังผืด หินปูน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่างๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ คอเลสเตอรอลสูง โรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็ง อาจจะตีบ ตัน หรือโป่ง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจมากถึง 24% ซึ่งสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ในควันบุหรี่นั้น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อนอีกด้วย และโรคเบาหวานเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 2 เท่า โดยอาการของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้ร่างกายไม่สามารถส่งกระแสเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจได้ โดยเฉพาะในขณะที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างออกกำลังกาย เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ผ่าน “สายสวน”
รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล แพทย์ปฏิบัติการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน และผู้อำนวยการอาวุโส อายุรแพทย์หัวใจ รพ. หัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การตรวจฉีดสารทึบรังสีสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization) เป็นวิธีการที่พบได้บ่อยเพื่อใช้ในการวินิฉัยและรักษาโรคหัวใจชนิดต่างๆ หัตถการนี้แพทย์จะทำการใส่สายสวน (Catheter) ซึ่งมีขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนที่ได้ เข้าไปในหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบ ข้อมือ แขน หรือลำคอ สายสวนจะค่อยๆ ถูกใส่และเคลื่อนไปตามหลอดเลือดเพื่อไปยังหัวใจ โดยตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ทำกันแพร่หลายคือตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ขา (Femoral Artery) เนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ขาเป็นหลอดเลือดแดงที่ใหญ่ สามารถใส่สายสวนเข้าไปได้ง่าย ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเท่าเข็มบริเวณขาหนีบ ทำให้หลังทำหัตถการผู้ป่วยจะต้องนอนราบ ห้ามงอขาข้างที่มีแผลเป็นเวลาค่อนข้างนานอยู่ที่ประมาณ 2-6 ชั่วโมง
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการใช้สายสวนผ่านข้อมือ
เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ของการใช้สายสวนผ่านขา แพทย์โรคหัวใจจึงได้พยายามหาตำแหน่งของหลอดเลือดแดงตำแหน่งอื่น ซึ่งก็คือ หลอดเลือดแดงที่ข้อมือ (Radial Artery) เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน สามารถพัฒนาการรักษา การทำหัตถการโดยการใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ (Transradial Catheterization) ช่วยในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจได้โดยที่ไม่ต้องแทงเข็มใหม่
การใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ สามารถทำได้ทั้งข้อมือด้านซ้ายและด้านขวา แม้ว่าหลอดเลือดจะมีขนาดเล็กกว่าและมีทางเดินที่คดเคี้ยวกว่า แต่ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์การรักษาให้มีความเหมาะสม สามารถทำการตรวจและรักษาได้ใกล้เคียงกับการตรวจผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ จนกระทั่งปัจจุบันนี้มีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ข้อดีของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วยสายสวนผ่านข้อมือ
การสวนหัวใจผ่านข้อมือนั้นมีประโยชน์และข้อดี คือ
- ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่เกิดจากการใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ขา
- ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลนาน ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด
- มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) จากการใส่สายสวนน้อยกว่าแบบการสวนผ่านทางขาหนีบ เนื่องจากเส้นเลือดมีขนาดเล็กกว่า และอยู่ใกล้ผิวหนังมากกว่าทำให้ห้ามเลือดได้ดีกว่ามาก ซึ่งหากมีเลือดออกบริเวณขาหนีบอาจจะต้องให้เลือด หรือบางครั้งจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองจนอาจต้องผ่าตัดซ่อมแซม และจะทำให้ผู้ป่วยงอขา หรือลุกเดินได้ช้า
- ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
- ภายหลังทำหัตถการผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำหรือรับประทานอาหารเองได้
โดยปกติการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำการตรวจเป็นหลัก โดยแพทย์ต้องมีความชำนาญวิธีนี้ ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากหรือมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือจะมีข้อดีกับผู้ป่วยมากกว่า แต่ในบางกรณีที่ต้องการรักษาหลอดเลือดแดงที่ข้อมือไว้ใช้ในการรักษาอื่นๆ เช่นการฟอกไต (Hemodialysis) หรือผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันเพื่อทําทางเดินของเลือดใหม่ การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาหนีบก็จะมีข้อดีมากกว่า