ผู้ป่วย PTSD ภาวะป่วยทางจิตหลังถูกทรมาน จะเยียวยาจิตใจอย่างไร?
PTSD ย่อมาจาก Post-Traumatic Stress Disorder คือ สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสะเทือนใจ เศร้าเสียใจจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนอื่น การถูกทรมานจากการทำร้ายร่างกายทั้งกับตัวเอง และคนใกล้ชิด เช่น เห็นคนอื่นเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ถูกขัง ข่มขืน ปล้นฆ่า หรือการอยู่ร่วมในเหตุการณ์ หรืออุบัติเหตุรุนแรง เช่น การก่อจลาจล สงคราม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ เป็นต้น
ความทรงจำเหล่านี้ทำร้ายจิตใจจนทำให้มีปัญหาในการทำงาน เข้าสังคม และการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไม่เหมือนเดิม
อาการของภาวะ PTSD
อาการของ PTSD แบ่งออกเป็น 2 ระยะคร่าวๆ คือ
- ระยะทำใจ เป็นระยะที่เกิดความทุกข์ทรมานทันทีหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจบลง เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน แต่อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้
- ระยะที่สอง อาจเป็นระยะที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วสักพัก โดยอาจมีอาการเกิดขึ้น 1 เดือน หรืออาจนานเป็นปีๆ ได้ โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ
- เห็นภาพหลอนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ
- เกิดความตื่นตัว ระแวดระวัง ตื่นตระหนกตกใจว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก ทำให้เกิดอารมณ์โมโหง่าย เกรี้ยวกราด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ และเครียดง่าย
- หลีกเลี่ยงการรับรู้เรื่องราวที่คล้ายกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น ข่าวอาชญากรรม หรืออุบัติภัยต่างๆ จากสื่อ หรือการพูดคุยบอกเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องจากคนรอบข้าง
- เริ่มรู้สึกกับตัวเองในทางลบ โทษตัวเอง มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่มีความสุขไม่ว่าจะทำอะไร ไม่อยากทำในสิ่งที่เคยทำแล้วมีความสุข จนเริ่มไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
กลุ่มเสี่ยงอาการ PTSD
- เคยถูกทำร้ายร่างกาย และจิตใจจากคนอื่นเมื่อยังเด็ก
- มีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่มีเพื่อนหรือครอบครัวคอยอยู่เคียงข้าง หรือช่วยเหลือ
- คอยพึ่งพาคนอื่นตลอด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- มีอาการทางจิตอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคซึมเศร้า ไบโพล่า วิตกกังวล
- ไม่มีประสบการณ์ หรือมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับอะไรใหม่ๆ
- ผู้หญิง มีแนวโน้มจะเป็น PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย
การรักษาผู้ป่วย PTSD
อันดับแรกตัวเอง และคนรอบข้างต้องคอยสังเกตอาการของคนที่ประสบกับเหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด หากพบว่าตัวเอง หรือเขาเหล่านั้นมีปัญหาจนเกิดความลำบากในการใช้ชีวิต หรือเริ่มส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด เช่น เบื่ออาหารจนน้ำหนักลง โทรม ซีด ไม่ดูแลตัวเองเหมือนเดิม ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการประเมินอาการ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยอาจได้รับการรักษาทั้งจากการบำบัดจิตใจ เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวจนเอาชนะมาได้ ฝึกการผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวเอง ทำกลุ่มบำบัด แชร์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นให้คนอื่นได้รับรู้ และอาจได้รับยาเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้น