“มะเร็งกล่องเสียง” สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา เจอเร็ว หายได้

“มะเร็งกล่องเสียง” สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา เจอเร็ว หายได้

“มะเร็งกล่องเสียง” สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา เจอเร็ว หายได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

มะเร็งกล่องเสียง เป็นอีกส่วนที่อาจไม่ได้เป็นที่พูดถึงกันมากนัก และอาจไม่ใช่ส่วนที่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดกันบ่อยๆ เหมือนมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ ปอด และอื่นๆ แต่ก็พบได้บ่อย และหากพบเร็ว สามารถรักษาให้หายได้

มะเร็งกล่องเสียง คืออะไร

มะเร็งกล่องเสียง หมายถึง เนื้องอกร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวของกล่องเสียง เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก (พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด) ถึงแม้ยังไม่ติดหนึ่งในสิบของมะเร็งที่พบบ่อยก็ตาม แต่ถ้านับเฉพาะมะเร็งของ หู คอ จมูก  มะเร็งกล่องเสียงจะอยู่ในอันดับที่ 3 รองลงมาจากมะเร็งหลังโพรงจมูก และโรคมะเร็งโพรงจมูก ชนิดของมะเร็งกล่องเสียงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ squamous cell carcinoma

กล่องเสียง อยู่ตรงไหน?

กล่องเสียงเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร  กล่องเสียงประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองแถบที่ทำหน้าที่เป็นสายเสียง และมีกระดูกอ่อนอยู่ทางด้านหน้า โดยอาจแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง มีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร การเปิด-ปิด ของกล่องเสียง จะสัมพันธ์ กับการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร

กล่องเสียง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

  1. กล่องเสียง ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง (supraglottis) ส่วนนี้มีทางเดินน้ำเหลืองมากมาย เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง

  2. กล่องเสียง ส่วนสายเสียง (glottis) ส่วนนี้ไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงมักไม่ค่อยกระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง

  3. กล่องเสียง ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง (subglottis) ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับท่อลม และมีทางเดินน้ำเหลืองติดต่อกับส่วนช่องอก ดังนั้น เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงกระจายเข้าท่อลม และต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง

 

สาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งกล่องเสียง แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียงได้แก่

  1. การสูบบุหรี่ การเผาไหม้ของบุหรี่สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้น ควันของบุหรี่จะทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียง หยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้าลง มีสารคัดหลั่ง หรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหนาตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ (squamous metaplasia) กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ พบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด

  2. ดื่มสุรา แอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียง เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

  3. การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น จากคอ หรือ หลอดลมที่อักเสบเรื้อรัง

  4. มลพิษทางอากาศ  การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น ควัน สารเคมี จากโรงงานอุตสาหกรรม

  5. การติดเชื้อไวรัส  เชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติได้  ไวรัสยังสามารถถ่ายทอดยีนทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในคนรุ่นต่อไปได้ ซึ่งการติดเชื้อ human papilloma virus (HPV)-16 และ 18 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดมะเร็งกล่องเสียง

  6. การฉายรังสี การรักษาโดยการฉายรังสีก้อนเนื้อบริเวณคอ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้

  7. ฮอร์โมนเพศ  ผลการทดลองที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะมีเซลล์ตัวรับสัญญาณเอสโตรเจนรีเซบเตอร์ (Estrogen receptor, ER) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


อาการของมะเร็งกล่องเสียง

  • เสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งหากมะเร็งเกิดที่กล่องเสียง ส่วนสายเสียง จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แต่หากเป็นที่กล่องเสียงส่วนอื่น  อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้น มักจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว

  • กลืนอาหารลำบาก  กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ หรือสำลัก

  • มีเสมหะปนเลือด

  • หายใจไม่ออก  หายใจติดขัด หายใจลำบาก

  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

  • มีก้อนโตที่คอ (ก้อนมะเร็งที่ลุกลามออกมา หรือต่อมน้ำเหลือง ที่มะเร็งแพร่กระจายมา) อาจมีเพียงก้อนเดียว หรือ หลายๆก้อนได้พร้อมกัน

  • เจ็บคอเรื้อรัง  มีความรู้สึกเหมือนก้างติดคอ

  • ปวดหู หรือไอเรื้อรัง


มะเร็งกล่องเสียง เจอเร็ว รักษาได้

ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง จนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ หลอดเลือดแดงใหญ่ของลำคอทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติ หรือกดหลอดอาหาร ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้ เป็นต้น แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถช่วยให้หายขาด และพูดได้เป็นปกติ หรือแม้ในรายที่เป็นระยะลุกลาม และได้รับการผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว และสามารถฝึกพูดจนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้

การรักษามะเร็งกล่องเสียง

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้

ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) จะรักษาโดยการฉายรังสี หรือผ่าตัด วิธีใด วิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน แต่การฉายรังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาดได้ และสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ  ส่วนการผ่าตัด มักจะผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนเท่านั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถพูด และกินอาหารได้ตามปกติ โดยอาจมีเสียงแหบบ้าง

ถ้าเป็นระยะลุกลาม (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต) จะใช้การรักษาร่วมกัน หลายๆวิธี เช่น การผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่โต หรือที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมกับการฉายรังสี  บางรายอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะพูดไม่ได้เป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่จะกินอาหารได้ปกติ ผู้ป่วยจะต้องฝึกการพูดแบบไม่มีกล่องเสียง โดยการกลืนลมเร็ว ๆ แล้วเอาลมจากกระเพาะอาหารย้อนผ่านหลอดอาหารออกมาเป็นเสียง (esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx) ซึ่งเป็นเครื่องแปลงการสั่นของกล้ามเนื้อเป็นเสียง หรืออาศัยรูที่เจาะระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร

ทั้งนี้ แพทย์หู คอ จมูก, แพทย์รังสีรักษา และแพทย์อายุรกรรมด้านมะเร็ง จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางวิธีการรักษา โดยประเมินจากความรุนแรง และ ระยะของมะเร็ง, ความพร้อมในด้านต่างๆของสถาบันที่ให้การรักษา รวมถึงสภาพของผู้ป่วยด้วย

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง

         ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกล่องเสียงได้ 100% แต่ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ใยหิน  นิกเกิล ฝุ่นไม้ กรดกำมะถัน ควัน สารเคมี มลพิษ

  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้

  4. ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ                    

 

มะเร็งกล่องเสียง มักมีอาการเสียงแหบเป็นสำคัญ ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบ หรือมีอาการเจ็บคอนาน 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ชายสูงอายุที่ มีประวัติสูบบุหรี่จัด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมมานาน ควรรีบไปพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งระยะแรก ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

 

 

___________________

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook