ดอกลำโพง มีทั้งพิษและประโยชน์ หากใช้ให้เป็น
หลังจากที่มีข่าวสองพี่น้องภาคเหนือ นำใบจากต้นลำโพงขาวที่พ่อเด็ดมาเก็บไว้ในบ้าน มาทำกับข้าวรับประทาน ส่งผลให้เด็กทั้งสองคนช็อค หมดสติ ตาค้าง น้ำลายฟูมปาก จนต้องเร่งส่งไปล้างท้องทำการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น (อ่านข่าวเต็มๆ ที่นี่) บางคนอาจสงสัยว่า ผู้เป็นพ่อเก็บใบลำโพงมีพิษเอาไว้ในบ้านทำไม
คำตอบคือ ต้นลำโพงมีประโยชน์มากมาย แต่จะมีพิษ ต่อเมื่อนำมารับประทานอย่างผิดวิธีนั่นเอง
ประโยชน์ของต้นลำโพง
ใบ : รสเมาเบื่อ ตำพอกฝีทำให้ยุบ แก้ปวดบวม อักเสบ
ดอก : หั่นตากแดดให้แห้ง ใช้มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูกและหอบหืด
ผล : แก้ไข้พิษ แก้ไข้ที่ทำให้กระสับกระส่าย
เมล็ด : คั่วพอหมดน้ำมัน ปรุงทำกินเป็นยา บำรุงประสาท แก้ไข้พิษ
น้ำมันจากเมล็ด : ฆ่าเชื้อโรค แก้กลากเกลื้อน หิด เหา เชื้อโรคที่มีตัว
ราก : รสเมาหวานน้อยๆ แก้ฝีกาฬทั้งปวง ดับพิษ ร้อน แก้ปวดบวมอักเสบ
ถ่านจากราก : รสเย็น แก้ไข้พิษ เซื่องซึม แก้ไข้กาฬ
นอกจากนี้ บางตำรายังระบุว่า รากลำโพงใช้แก้หมาบ้ากัด แก้วิกลจริต และลำโพงทั้งต้นตากแห้งหั่นสูบแก้โรคหืด
ข้อควรระวังในการใช้ต้นลำโพง
แม้แพทย์แผนโบราณของไทยจะใช้ลำโพงรักษาโรคได้มากมาย แต่ก็เตือนให้ระวังเป็นอย่างยิ่งถึงการใช้เมล็ดลำโพง เพราะเชื่อว่ามีพิษทางเมาเบื่ออย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นบ้า หรือถึงตายได้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มะเขือบ้า”รวมทั้งคนไทยในอดีตเรียกคนบ้าบางจำพวกว่า "บ้าลำโพง" เพราะเชื่อว่าเกิดจากการกินหรือสูบลำโพงนั่นเอง
อาการของผู้ที่ได้รับพิษจากต้นลำโพง
ในเมล็ดและใบลำโพงมีสารโทรเพน อัลคาลอยด์ ได้แก่ สโคโพลามีน (scopolamine) และไฮออสไซอะมีน (hy-oscyamine) ที่ทำให้เกิดอาการต่อไปนี้
- กระหายน้ำอย่างรุนแรง ปากและคอแห้งผาด
- ม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้
- กลืนน้ำลายยาก
- พูดไม่ชัด พูดลำบาก
- ผิวหนังร้อนแดง คล้ำแห้ง
- ตัวร้อน ปวดศีรษะ
- มึนงง ประสาทหลอน
- ชัก ชีพจรเต้นเร็วแต่อ่อน
- น้ำลายฟูมปาก หมดสติ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ให้กินผงถ่าน เพื่อลดการดูดซึม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อล้างท้อง
คำแนะนำในการใช้ต้นลำโพง
ควรปรึกษาแพทย์แผนไทย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรก่อนใช้ใบ ดอก เมล็ด หรือผลของต้นลำโพงในการรักษาโรคต่างๆ
เกร็ดความรู้
ดอกลำโพง กับดอกแตรนางฟ้า มักถูกจำสลับกัน ดอกลำโพงจะตั้งขึ้น หรือเจริญเติบโตในแนวเฉียง ลำต้นเป็นไม้พุ่มเตี้ย ติดเมล็ดได้ง่าย แต่ดอกแตรนางฟ้าจะคว่ำลง และเป็นลำต้นสูงใหญ่กว่าต้นลำโพง
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน
เล่มที่: 322
กุมภาพันธ์ 2549
คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า
นักเขียนรับเชิญ : เดชา ศิริภัทร
ภาพประกอบจาก wikiwand.com/th