"โรคลมร้อน" (heat stroke) อันตรายต่อชีวิต เผย 6 กลุ่มเสี่ยงควรระวัง
แพทย์เตือนฮีทสโตรก หรือโรคลมร้อนเสี่ยงเสียชีวิตกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวังอาการผิดปกติ
จากรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าทุกๆ ปี ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากร่างกายปรับสภาพไม่ทันจะเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่าย ทั้งนี้อาการที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้แก่เพลียแดดโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat stroke) ซึ่งทุกปีจะมีผู้ป่วยโรคเหตุปัจจัยจากความร้อนเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยปีละประมาณ 3,500 ราย
โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก คืออะไร?
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เผยสภาพอากาศที่ร้อนจัดเสี่ยงต่ออาการฮีทสโตรก (heat stroke) หรือโรคลมร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกาย หากไม่สามารถระบายความร้อนได้ต่อเนื่อง จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะหน้ามืด เพ้อชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก
อากาศร้อนจัดอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ดังนี้
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- ตัวร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก
- ปวดศีรษะ
- เดินเซ กระสับกระส่าย
- ชีพจรเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตลดลง จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก
กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคลมร้อนได้สูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุเนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งมีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเดิมอยู่แล้ว
- คนอ้วน
- ผู้ที่อดนอนโดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอนจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติโดยเฉพาะในคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมากไขมันจะเป็นฉนวนกันความร้อนร่างกายจะเก็บความร้อนได้ดีและระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงเกิดปัญหาได้ง่าย
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็ว และแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนัก เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายอาจทำให้ช็อค และเสียชีวิตได้
อันตรายจากแสงแดดร้อนจัดอื่นๆ
นอกจากโรคลมแดดแล้ว แสงแดดร้อนจัดในหน้าร้อนของบ้านเรา อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้อีก คือ
- ทำให้ผิวหนังไหม้
- ตะคริว เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก
- อาการเพลียแดดเนื่องจากสูญเสียเหงื่อมากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลงจะมีอาการหน้าซีดปวดศีรษะคลื่นไส้อาเจียนหน้ามืดตาลายและ
วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก
- นอนราบ ยกเท้าสูง ทั้งสองข้างเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
- คลายชุดชั้นใน และถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอตัวรักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก
- ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือใช้น้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง
- รีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก
การป้องกันอันตรายจากโรคลมร้อนในช่วงที่มีอากาศร้อน มีวิธีดังนี้
- แนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี
- ควรอยู่ภายในบ้านเช่นใต้ถุนบ้าน หรืออยู่ใต้ร่มไม้
- ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง
- สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง
- ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- อย่าทิ้งเด็กผู้สูงอายุหรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะมีโอกาสเสี่ยงสูงมาก
- ผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่นวิงเวียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ขอให้พบแพทย์หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง