9 วิธีหลีกเลี่ยงอาหารบูดเน่าเสียในช่วงหน้าร้อน ป้องกันท้องเสีย-ท้องร่วง
อากาศร้อน ทำให้อาหารบูดเน่าเสียได้ง่ายกว่าเดิม เพราะเชื้อแบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้มาก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันอาการท้องร่วง ท้วงเสีย และโรคอาหารเป็นพิษ ก่อนรับประทานอาหารควรระมัดระวังทั้งเรื่องความสะอาด การเก็บรักษาอาหารให้มากกว่าเดิม
วิธีหลีกเลี่ยงอาหารบูดเน่าเสียในช่วงหน้าร้อน ป้องกันท้องเสีย-ท้องร่วง
- เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และผ่านความร้อนมากพอ ในที่นี้หมายถึง อาหารที่ปรุงผ่านความร้อนเกิน 100 องศาเซลเซียส
- หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสุกที่ตั้งทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงโดยไม่มีการอุ่นซ้ำ
- หากซื้ออาหารมาแล้วไม่ได้รับประทานในทันที ควรเก็บโดยนำเข้าตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนจนเดือดก่อนนำมารับประทาน
- ไม่ควรเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วในตู้เย็นนานเกิน 2-3 วัน
- หากลืม หรือวางอาหารเอาไว้ในที่อากาศร้อนจัด เช่น ทิ้งไว้ในรถยนต์ เป็นเวลานานกว่า 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรนำมารับประทานอีก เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจเจริญเติบโตแล้ว
- ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรสังเกตลักษณะ รูป รส กลิ่น ให้ดีก่อน หากมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทาน
- อาหารที่ปรุงสุกแล้ว ควรจำหน่ายอยู่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และมาจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้
- หากรับประทานอาหารร่วมกับคนจำนวนมาก ควรใช้ช้อนกลางเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางน้ำลาย เช่น โรคหวัด โรคหัด
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสกับอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย
วิธีสังเกตอาหารบูดเน่าเสีย
- ดูวันหมดอายุที่บรรจุภัณฑ์
- กลิ่นของอาหารเปลี่ยนไป เช่น เหม็นเปรี้ยว เหม็นหืน
- ลักษณะของอาหารมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แข็งเป็นก้อน แฉะ เหนียว แกงกะทิอาจข้น หนืด ติดช้อน มีฟอง
- รสชาติของอาหารที่เปลี่ยนไป เช่น เปรี้ยว ซ่าลิ้น เป็นต้น
- พบสิ่งแปลกปลอมหรือสีของอาหารเปลี่ยนซึ่งอาจเป็นเชื้อราได้