8 วิธีลดเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจ” แค่ปรับพฤติกรรมการกิน-ใช้ชีวิตประจำวัน
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ชี้อัตราการตายและป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจยังคงมีความรุนแรงและแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่พบผู้ป่วยในไทยกว่า 100,000 คนในทุกๆ ปี และมีแนวโน้มว่าจะพบผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลการศึกษาของ Thai Registry in Acute Coronary Syndrome (TRACS) พบว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้น ล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำร้ายสุขภาพของตัวเองทั้งสิ้น ได้แก่
- อยู่ในภาวะไขมันในเลือดสูง
- อยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง
- เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
- สูบบุหรี่
- ความครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ลดเสี่ยงได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดปัจจัยเสี่ยงข้างต้นควรเริ่มต้นจากความตระหนักและสร้างการรับรู้ถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการลดปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน เพราะหากป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้วผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา การรักษาด้วยบอลลูนขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดต่อเส้นเลือด ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะเส้นเลือดมีโอกาสกลับมาตีบได้อีก แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยให้สามารถลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้มีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
8 วิธีลดเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจ”
- ผัก ผลไม้สดที่ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ แคนตาลูป
- ปลา ไก่ (ลอกหนังออก) เนื้อหมู เนื้อวัว (เนื้อสันไม่ติดมัน)
- ควบคุมปริมาณรับประทานอาหารจำพวกแป้งหรืออาหารที่มีไขมันสูง
- ดื่มนมพร่องมันเนยแทนนมจืดธรรมดา หากดื่มนมเปรี้ยว หรือรับประทานโยเกิร์ตควรเลือกที่มีไขมันต่ำ
- ประกอบอาหารด้วยการต้ม นึ่ง ลวกปิ้ง ย่าง แทนการทอดหรือผัด
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
- ควรใช้น้ำตาลเทียมหรือสารอื่นที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลทราย
- ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน