“ไข้หวัดแดด” ตากแดดนานๆ ก็เป็นหวัดได้ และอาการไม่เหมือนไข้หวัดปกติ
ท่ามกลางอากาศทะลุ 40 องศาเซลเซียสในบ้านเรา เสี่ยงเป็นโรคที่มาพร้อมแดดร้อนๆ อยู่หลายโรคด้วยกัน เช่น ฮีทสโตรก (>> 6 กลุ่มเสี่ยง "ฮีทสโตรก" จากอากาศร้อน อันตรายถึงเสียชีวิต) แต่ยังมีอีกโรคที่ชื่อคุ้นๆ แต่อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิดนัก นั่นคือ “ไข้หวัดแดด”
ไข้หวัดแดด เป็นอย่างไร?
ไข้หวัดแดด เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับต้องเผชิญอากาศที่ร้อนจัด หรือ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร่างกายปรับตัว กับสภาพอากาศไม่ทัน ทำให้ร่างกายเกิดการสะสมความร้อนไว้ภายใน และด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนชื้น เชื้อโรคจึงมีชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น
สาเหตุของโรคไข้หวัดแดด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า การเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม 4 ประการ ได้แก่
- อุณหภูมิของอากาศที่ร้อน
- ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น
- การอยู่กลางแจ้งหรืออยู่ในที่ที่อาจได้รับรังสีความร้อน
- สภาวะที่มีลมหรือการระบายอากาศน้อย
กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดแดด
ไข้หวัดแดดนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในกลุ่มคนเหล่านี้
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เกษตรกร นักกีฬา
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง, คนอ้วน
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่ต้องเข้าออกบ่อยๆ ระหว่างสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ และสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด
อาการของโรคไข้หวัดแดด
- มีไข้ต่ำๆ (ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียล)
- วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ
- ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- นอนไม่ค่อยหลับ
ข้อแตกต่างระหว่าง ไข้หวัด VS ไข้หวัดแดด
หลายครั้งผู้ที่เป็นหวัดมักเกิดความสับสนระหว่าง ไข้หวัดแดด กับ ไข้หวัด เพราะอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ในความจริงแล้ว ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ร่วมด้วย ส่วนไข้หวัดแดดจะไม่ค่อยมีน้ำมูก หรือมีน้ำมูกใสๆ เพียงเล็ก น้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึกขมปาก คอแห้ง และแสบคอแทน
วิธีรักษาโรคไข้หวัดแดด
ไข้หวัดแดดเกิดขึ้นจากเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัดใหญ่ หากดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง อาการที่เกิดขึ้นมักจะหายเป็นปกติใน 2 สัปดาห์
ดังนั้นผู้ที่เป็นไข้หวัดแดด จึงควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายใน
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
- รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่
- อาจทานยาลดไข้ร่วมด้วย
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดแดด
- หลีกเลี่ยงการเผชิญแสดงแดดโดยตรง หรือที่อากาศร้อนจัด หากจำเป็นควรใส่เสื้อคลุมกันแดด หรือพกร่มไปด้วย
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ผู้คนแออัด
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ที่ระบายอากาศได้ดี
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซีสูง เพื่อป้องกันหวัด
- หากต้องเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรนั่งพักในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทสะดวกสักพัก ก่อนเข้าในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับอุณหภูมิที่แตกต่างได้ทัน