7 วิธีคลายเครียด ลดความดันโลหิต ลดเสี่ยงโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองแตก

7 วิธีคลายเครียด ลดความดันโลหิต ลดเสี่ยงโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองแตก

7 วิธีคลายเครียด ลดความดันโลหิต ลดเสี่ยงโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองแตก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเครียด และความดันโลหิตสูง เป็นตัวการสำคัญของโรคหัวใจ และหลอดเลือด หากคุณรู้ตัวว่าเป็นคนเครียดง่าย หงุดหงิดง่าย และยังมีปัญหาในเรื่องความดันโลหิตสูง เรามาลดความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยเคล็ดลับจาก Harvard Health Publishing กันดีกว่า

วิธีคลายเครียด

  1. นอนหลับให้เพียงพอ หากนอนหลับไม่เพียงพอ คือน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน รวมถึงหากนอนไม่ค่อยหลับ หลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน อาจทำให้คุณกลายเป็นคนหงุดหงิดง่ายมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังทำให้เป็นคนเนือยนิ่ง ไม่กระตือรือร้น พลังงานตก และยังส่งผลถึงร่างกายโดยรวมอีกด้วย

  2. เรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ ยืดเส้นยืดสายผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกวิธีหายใจเข้าออก เล่นโยคะ ฟังเพลงช้าๆ เบาๆ เป็นวิธีผ่อนคลายความเครียดที่น่าสนใจ

  3. เข้าหาเพื่อนฝูง รู้หรือไม่ว่าเพื่อนสนิทตัวดีของคุณเป็นยาผ่อนคลายความเครียดมือฉมังที่เราไม่ควรมองข้าม เมื่อไรก็ตามที่เครียด เรียกเพื่อนมานั่งคุยปรับทุกข์ด้วยกัน หรือจะทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน เท่านี้ก็ผ่อนคลายความเครียดได้มากกว่าที่คุณคิดแล้ว

  4. วางแผนเวลาในการทำงานให้ดี หากเราจัดตารางทำงานได้อย่างเป็นระเบียบล่วงหน้า แล้วสามารถทำตามเวลาที่วางแผนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จะทำให้งานสำเร็จลุล่วง และไม่ต้องกังวล หรือเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต

  5. อย่าปล่อยให้เกิดปัญหาคาราคาซังนานๆ ต้นเหตุของความเครียดมักมาจากเรื่องราวที่ไม่ได้ถูกพูดคุยกันอย่างละเอียดตรงๆ การพูดคุยกันตรงๆ เพื่อหาข้อตกลง พร้อมวิธีแก้ไขให้มันดีขึ้น จะช่วยสางปัญหาที่ทำให้เครียดไปได้ทีละเรื่องๆ และทำให้สมองของคุณโล่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีปัญหา ควรรีบพูดคุยให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่ายให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ปัญหา และความไม่เข้าใจก่อตัวขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออารมณ์ และสุขภาพจิตของเรา

  6. ให้รางวัลตัวเอง ทุกครั้งที่ทำอะไรสำเร็จตามแผนที่วางเอาไว้ หรือมีปัญหาที่ต้องแก้ไขจนทำให้เริ่มรู้สึกเครียด ให้บอกตัวเองว่า “เมื่อฉันทำสิ่งนี้เสร็จ ฉันจะไปหาของอร่อยๆ กิน” หรือ “หากฉันแก้ปัญหานี้ได้ ฉันจะรีบไปดูหนังเรื่องโปรดที่อยากดูมานานให้ได้” เพื่อเป็นการกระตุ้น ให้กำลังใจตัวเองก่อนที่จะเริ่มมีความเครียดเกิดขึ้น

  7. ขอความช่วยเหลือ หลายครั้งที่มีความเครียดเกิดขึ้น เราอาจจัดการกับตัวเองได้อย่างเฉียบแหลม แต่ก็น่าจะมีหลายครั้งที่เราเริ่มรู้สึกจนตรอก ไร้ซึ่งวิธีที่จะทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น การคิดทบทวนอยู่คนเดียวอาจได้มุมมองด้านเดียว ดังนั้นเราจึงควรมองหาตัวช่วยที่เราไว้ใจได้ และถามหาความเห็นจากเขาเหล่านั้น คำตอบจากคนอื่นอาจเป็นคำตอบที่ดี และเราคาดไม่ถึงก็ได้


นอกจากการดูแลจิตใจ และสมองให้ปลอดโปร่ง เพื่อลดตึงความเครียดแล้ว ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงเป็นปกติอยู่เสมอ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่มีใยอาหารมากๆ รวมถึงโปรตีนไขมันต่ำ และไขมันดีจากปลา น้ำมันมะกอก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เท่านี้จะช่วยควบคุมอารมณ์ และระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติได้อย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook