สี "ปัสสาวะ" บอกโรค
ปัสสาวะ คือ ของเสียที่ไตกรองออกมาจากเลือด สามารถช่วยบอกโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคตับ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แม้จะสามารถบอกโรคได้มากมาย แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยสังเกต สีปัสสาวะ หรือปัสสาวะของตัวเองเวลาเข้าห้องน้ำกันนัก ทั้งที่เป็นวิธีการสังเกตโรคเบื้องต้นที่ง่าย และทำให้สามารถเตรียมรับมือ หรือแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ทันท่วงที
สีปัสสาวะ แต่ละสี จะบ่งบอกโรคอะไรได้มั่งนะ มาดูกัน
สีฉี่ปกติ
ตามปกติแล้ว ฉี่จะมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้มใส ไม่ขุ่น โดยความอ่อนเข้มจะขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวัน หากดื่มน้ำมาก สีปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน ถ้าดื่มน้ำน้อย สีปัสสาวะจะเหลืองเข้มใส แต่ถ้าสีฉี่ของคุณนอกเหนือไปจากนี้แล้วละก็ แสดงว่าคุณอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งอยู่ก็ได้
ฉี่สีอมแดง
ก่อนที่จะแตกตื่นเพราะสีอันแสนน่ากลัวนี้ ขอให้ลองนึกดูให้ดีก่อนว่า คุณได้ทานผักผลไม้ที่มีสีแดง เช่น แบล็กเบอร์รี่ บีทรูท หรือยาที่ส่งผลให้ฉี่มีสีแดงหรือไม่ ถ้าแน่ใจว่าไม่ได้กิน คุณก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายแล้วละ เพราะฉี่สีอมแดง คือสัญญาณที่บอกว่า มีเม็ดเลือดแดงในเส้นเลือดแตกมากกว่าปกติ และยังหมายถึงการมีเลือดออกบริเวณทางเดินปัสสาวะซึ่งเป็นอาการของโรคต่าง ๆ เช่น นิ่ว เนื้องอก การติดเชื้อทางเดินระบบปัสสาวะ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และยังหมายถึงว่าอวัยวะภายในร่างกายเกิดการฉีกขาดได้อีกด้วย
ฉี่สีน้ำตาล
การทานถั่วในปริมาณมากสามารถทำให้ฉี่ของคุณกลายเป็นสีน้ำตาลได้ รวมถึงยาหลายชนิด แต่ในขณะเดียวกัน ฉี่สีน้ำตาลก็อาจหมายถึงลิ่มเลือดที่ปนออกมากับฉี่ หรือน้ำดีจากภาวะดีซ่านได้เช่นกัน
ฉี่สีคล้ายน้ำนม
อาจเป็นสีของหนองที่เกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือสีของไขมันที่เกิดจากการที่ท่อน้ำเหลืองอุดตัน มักพบในผู้ป่วยโรคเท้าช้าง
สีส้ม
ผู้ป่วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจจะมีฉี่สีส้ม ซึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากยาที่ใช้ในการรักษา
สีเหลืองเข้ม
โดยทั่วไปจะหมายความว่าคุณดื่มน้ำน้อยเกินไป แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าดื่มน้ำมากพอ แต่ปัสสาวะยังเป็นสีเหลืองเข้มอยู่ คุณอาจมีโรคไตแฝงมาแล้วก็ได้ ถ้ามีอาการตัวเหลืองร่วมด้วย ก็สามารถหมายถึงภาวะดีซ่านได้ ส่วนปัสสาวะสีเหลืองอ่อน ให้สังเกตว่าร่างกายได้รับวิตามินบี 2 มากเกินไปจนต้องขับออกจากร่างกายหรือไม่
สีน้ำเงิน
แม้ว่าฉี่สีน้ำเงินจะดูน่าตกใจ แต่ถ้าคุณอยู่ในช่วงที่ทานยารักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะตัวยาจะส่งผลให้ปัสสาวะกลายเป็นสีน้ำเงินหรือสีฟ้าอ่อนๆ
นอกจากสีฉี่แล้ว การสังเกตอาการร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นๆ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีอาการปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะ ปวดเอวหรือท้องน้อย รวมไปถึงชนิดของอาหาร และยาที่รับประทาน ก็สามารถทำให้คุณประเมินระดับสุขภาพของคุณได้อย่างคร่าวๆ ว่าปกติดี หรือว่ามีปัญหาจนต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง และได้รับการรักษาที่ทันท่วงที