10 พฤติกรรมเสี่ยง “ดื้อยา” ที่ไม่ควรทำ อาจรักษาโรคได้ลำบากขึ้น
อาการดื้อยา หมายถึง การรับประทานยาตัวเดิมแล้วเริ่มไม่หาย ต้องเปลี่ยนเป็นยาที่แรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็น สุดท้ายหากรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อาจไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการรับประทานยาได้ โดยสาเหจุมาจากการรับประทานยาที่ผิดวิธี หากคุณมีพฤติกรรมในการรับประทานยาดังต่อไปนี้ อาจเสี่ยงดื้อยาได้ในอนาคต
10 พฤติกรรมเสี่ยง “ดื้อยา” ที่ไม่ควรทำ อาจรักษาโรคได้ลำบากขึ้น
- ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่แยกแยะว่าเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส
- ซื้อยามารับประทานเองทุกครั้งเมื่อเป็นหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย ถ่ายเหลว ซึ่งแทบทุกกรณีไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะไปจึงไร้ประโยชน์
- ใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง รักษาอาการได้หลายๆ อย่าง เป็นประจำ
- รับการฉีดยาฆ่าเชื้อจากแพทย์เมื่อเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ฯลฯ อยู่เป็นประจำ
- ขอ หรือคาดหวังว่าจะได้รับยาทุกครั้งเมื่อไปพบแพทย์ด้วยอาการไม่สบาย
- รับประทานยาเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่รับประทานไม่หมดตามที่แพทย์สั่ง
- รับประทานยาอมผสมยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่เจ็บคอ
- ใช้ยาปฏิชีวนะทา หรือโรยใส่แผลสด
- ซื้อยาชุดแก้อักเสบรับประทานเองเมื่อมีอาการป่วย
- ซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานจากบุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกร
วิธีลดความเสี่ยงในการดื้อยาง่ายๆ เพียงพยายามปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งที่จะรับประทานยาเพื่อรักษาโรค หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ่ายเหลวไม่กี่ครั้ง ซื้อผงเกลือแร่ ORS มาจิบ เจ็บคอให้จิบน้ำอุ่น อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองโดยอาจไม่ต้องซื้อยามารับประทาน หากมีอาการรุนแรง 2-3 วันยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดจะดีที่สุด