11 เคล็ดลับสุขภาพดี อายุยืนของชาว “ญี่ปุ่น”
“ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีแต่คนอายุยืน” คำถามนี้น่าจะเคยเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัย เพราะจะเห็นได้ตามข่าว หรือรายการต่างๆ ว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นถือว่ามีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศอื่นๆ คุณตาคุณยายอายุ 90 ปียังเดินเหินกันได้สบายๆ บางคนยังมีผิวพรรณดีอีกต่างหาก เพราะอะไรชาวญี่ปุ่นที่มีสุขภาพดีมากกว่าชาตอื่นๆ เรามาไขความลับของพวกเขากัน
11 เคล็ดลับสุขภาพดี อายุยืนของชาว “ญี่ปุ่น”
-
กินด้วยตาก่อน
อาหารที่อร่อย ต้องหน้าตาดีด้วย ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการตกแต่งอาหารก่อนรับประทานกันมาก ถึงขนาดมีประโยคที่ว่า “หากไม่ตกแต่งอาหารให้มีสีสันสวยงาม ก็เหมือนออกไปนอกบ้านโดยไม่สวมเสื้อผ้า” ดังนั้นจะเห็นว่าอาหารญี่ปุ่นใน 1 เซ็ตมักมีหลากหลายสีสัน ตั้งแต่เหลือง ส้ม เขียว แดง ดำ เมื่อหน้าตาของอาหารน่ารับประทาน ก็ทำให้เราเจริญอาหารมากขึ้น แถมยังได้ความหลากหลายของอาหารที่จะรับประทานไปด้วย
-
ใส่ภาชนะขนาดเล็ก
สังเกตได้ว่าภาชนะใส่อาหารญี่ปุ่นมักจะมีขนาดเล็ก และแบ่งอาหารแต่ละชนิดออกจากกันอย่างชัดเจน มีให้เลือกรับประทานหลายอย่าง ทั้งอาหารแห้งๆ หรืออาหารที่เป็นซุป ของสด ของทอด นอกจากจะได้รับประทานอาหารที่ปรุงอย่างหลากหลายแล้ว งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ยังระบุว่า คนมักรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น 45% เมื่อเสิร์ฟลงบนภาชนะที่มีขนาดใหญ่ เพราะอาจเผลอตักอาหารใส่จานมากกว่าเดิม ดังนั้นหากใส่ภาชนะเล็กๆ ก็ช่วยให้เรากินได้น้อยลงไปด้วย
GettyImages
-
กินให้อิ่มแค่ 80%
การไม่พยายามกินจนอิ่มมากเกินไปในทุกมื้อ เหมือนกับการให้ร่างกายได้คุ้นชินกับความอิ่มให้น้อยลง คล้ายกับลดขนาดของกระเพาะอาหารให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น แทนที่จะให้ท้องคุ้นชินกับอาการอิ่มจนพุงจะแตก ดังนั้นอาหารญี่ปุ่นแต่ละอย่างจึงแบ่งเป็นชามเล็กๆ หลายชาม และไม่เสิร์ฟในปริมาณที่เยอะจนเกินไป โดยกินเพียงในเซ็ตของตัวเองนั่นเอง
-
กินผัก 5 อย่าง
ผักที่เสิร์ฟมาเป็นเครื่องเคียงในเซ็ตอาหารญี่ปุ่น มักเป็นผักหลากหลายชนิด รวมๆ แล้วเราจะได้รับประทานผักมากถึง 1 ชนิดใน 1 มื้อเลยทีเดียว ดังนั้นการรับประทานผักหลายชนิดจึงส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง
-
รับประทานผักก่อน
การเริ่มต้นมื้ออาหารด้วยผักก่อน เหมือนกับที่ฝรั่งจะรับประทานสลัดก่อนเป็นจานแรก แล้วค่อยตามด้วยอาหารจานหลักที่เป็นโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต จะทำให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายขึ้นจากเอนไซม์ที่มีอยู่ในผัก ช่วยลดความเร็วในการรับน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด และยังช่วยลดอาการบวมของร่างกายได้เมื่อรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงได้อีกด้วย
-
เลือกปลามากกว่าเนื้อแดง
จะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นชอบรับประทานปลามากเป็นชีวิตจิตใจ ปลาเป็นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ (แล้วแต่ชนิดของปลา แต่ส่วนใหญ่ไขมันยังน้อยกว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ อยู่ดี) และคนญี่ปุ่นยังชอบปรุงปลาด้วยวิธีย่าง ต้ม นึ่ง อีกด้วย ดังนั้นโปรตีนที่ได้จากอาหารจานหลักที่ทำจากปลา จึงเป็นโปรตีนที่ดีมีคุณภาพนั่นเอง
-
อาหารหมักที่ช่วยในการขับถ่าย
นอกจากผักดองที่เสิร์ฟมาเคียงกับอาหารจานหลักเพื่อเพิ่มรสชาติ และแก้เลี่ยนแล้ว ยังมีอาหารหมักอื่นๆ เช่น ซอสมิโซะ เต้าหู้ ฯลฯ ที่ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีให้กับระบบย่อยอาหาร และช่วยทำให้ระบบขับถ่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
GettyImages
-
ถั่ว ดีต่อสุขภาพ
คนญี่ปุ่นชอบรับประทานอาหารที่ทำจากถั่ว ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้ ถั่วแระญี่ปุ่น และยังชอบดื่มนมถั่วเหลืองอีกด้วย โปรตีนจากถั่วเป็นโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพอีกเช่นกัน
-
ผลไม้หลังมื้ออาหารเป็นประจำ
เมื่อเราเดินเข้าร้านญี่ปุ่น และสั่งอาหารเป็นเซ็ต หลังจากอิ่มกับอาหารคาวแล้ว มักตบท้ายด้วยผลไม้ตามฤดูกาลที่เสิร์ฟเป็นชิ้นพอดีคำทุกครั้ง ทำให้เรามั่นใจได้ว่าในมื้อนั้นๆ จะได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่อย่างแท้จริง
-
ชาเขียว แหล่งสารต้านอนุมูลอิสระ
น่าจะเคยได้ยินกันมาแล้วว่าชาเขียวที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากมาย และยังเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคมะเร็ง และยังทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งเต่งตึงได้อีกด้วย แต่หากจะดื่มชาเขียวเพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มๆ ควรเป็นชาเขียวที่ไม่ใส่น้ำตาลเลยจะดีที่สุด
-
ของหวาน ที่ไม่หวาน
จริงๆ แล้วของหวานของญี่ปุ่นที่มีรสชาติหวานก็มีอยู่ แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีของหวานที่เป็นที่นิยมหลายอย่างที่ไม่ได้มีรสหวานมากอยู่เช่นเดียวกัน เช่น เค้กญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นเค้กที่ไม่มีรสหวานจัดจนเกินไป โมจิไส้ต่างๆ ที่ส่วนผสมของไส้ก็ไม่ได้มีรสหวานมากจนเกินไปด้วยเช่นกัน
หากเรานำเอาไอเดียของอาหารญี่ปุ่นเหล่านี้มาปรับใช้กับเมนูอาหารไทย ก็จะช่วยให้เราได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นได้เช่นกัน