“กินเหล้า” อย่างไร ไม่ให้ "ตับพัง"?

“กินเหล้า” อย่างไร ไม่ให้ "ตับพัง"?

“กินเหล้า” อย่างไร ไม่ให้ "ตับพัง"?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นชื่อว่าเป็นแอลกอฮอล์แล้ว คงไม่มีแอลกอฮอล์ชนิดไหนที่ดีต่อสุขภาพถึงขนาดที่หมอแนะนำให้ดื่มกันเป็นประจำราวกับนมอย่างแน่นอน แต่เราก็มีวิธีที่จะกินเหล้า และดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ ที่ไม่ทำร้ายสุขภาพมากจนเกินไป จากนพ.ปฏิพัทธ์ ดุรงค์พงศ์เกษม อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสมิติเวช มาฝากกัน


กินเหล้า ตับไม่พัง ขึ้นอยู่กับปริมาณ และชนิดที่ดื่ม

การดื่มแอลกอฮอล์ให้ถูกชนิด ในปริมาณที่เหมาะสม ก็สามารถให้ประโยชน์กับร่างกายได้เช่นกัน

เบียร์ เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่มาก ราวๆ 5% หรือ 5 ดีกรี

ไวน์ มีแอลกอฮอล์ราว 10% หรือ 10 ดีกรี

เหล้าต่างๆ มีแอลกอฮอล์ราวๆ 35-40% หรือ 35-40 ดีกรี

วอดก้า บรั่นดี วิสกี้ มีแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูง ราวๆ 40-50% หรือ 40-50 ดีกรี

ขนาดมาตรฐานที่เรามักเรียกกัน คือ 1 ดริ๊งค์ (drink) หรือ 1 แก้วที่มีปริมาณเครื่องดื่มราว 10-14 กรัม หากทำการคำนวณโดยนำปริมาณเครื่องดื่มหน่วยซีซี (cc.) x จำนวนดีกรี x 0.789 (ความถ่วงจำเพาะของแอลกอฮอล์) จะได้ออกเป็นจำนวนแอลกอฮอล์ที่ดื่มไปเป็นหน่วยกรัม ต่อ 1 ดริ๊งค์ หรือ 1 แก้ว

เช่น ไวน์ 100 cc x 10 ดีกรี x 0.789 = 7.89 กรัม คือจำนวนแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปต่อ 1 แก้ว

เมื่อคำนวณคร่าวๆ จะได้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เราสามารถดื่มได้คร่าวๆ ดังนี้

เบียร์ = ครึ่งแก้วเบียร์ใหญ่ หรือ 3-4 กระป๋องเล็ก หรือไม่เกิน 200-300 cc ต่อวัน

ไวน์ = ก้นแก้วไวน์ หรือราวๆ 100 cc

เหล้า = 2 ใน 3 ของแก้วเป๊ก (แก้วเหล้าเล็กๆ)

จำนวนนี้ถือเป็น 1 ดริ๊งค์ของแอลกอฮอล์ในแต่ละชนิด


ดื่มมาก ดื่มน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?

  1. หากแบ่งแยกตามเพศ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้ว ในขณะที่ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้ว สาเหตุที่ผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่า เพราะมีการกระจายไขมันต่อแอลกอฮอล์น้อยกว่า แอลกอฮอล์ดูดซึมได้เร็วกว่า

  2. กรรมพันธุ์ แต่ละคนจะมีระบบเผาผลาญไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน อาจมีคนที่คออ่อน และคนคอแข็ง ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของคนนั้นๆ

  3. โรคประจำตัว หากเป็นโรคตับอยู่แล้ว ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มอันตรายต่อโรคตับให้มากขึ้น

  4. ช่วงเวลารับประทานอาหาร ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง อาจทำให้เมาได้เร็ว และทำร้ายตับได้มากกว่า


ดื่มแอลกอฮอล์เท่าไร เสี่ยงโรคตับ?

หากดื่มแอลกอฮอล์เกิน 4-5 ดริ๊งค์ต่อวันติดต่อกันเกิน 5 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคตับได้ โดยอาการเริ่มแรกอาจพบเพียงไขมันสะสมที่ตับ หากยังดื่มในปริมาณมากๆ เหมือนเดิมติดต่อกันถึง 10 ปี อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งได้

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเป็นโรคตับแข็งของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย กรรมพันธุ์ ปริมาณที่ดื่ม และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ อีกด้วย

wineดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้


ดื่มไม่เกินปริมาณที่แนะนำ มีประโยชน์อะไรบ้าง?

  1. ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

  2. ลดคอเลสเตอรอล

  3. ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

  4. บางรายงานกล่าวว่า ป้องกันโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้ด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกชนิดของแอลกอฮอล์ที่ควรดื่มก็สำคัญ


เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้ประโยชน์มากที่สุด
คือ

  • ไวน์แดง เพราะไวน์แดงมีสารบางชนิดที่มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจที่ทำให้ไขมันดีเพิ่มขึ้น

  • ไวน์ขาว

  • เหล้าต่างๆ

  • เบียร์ ให้ผลเสียต่อร่างกายมากกว่า เพราะเบียร์จะทำให้ไขมันในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ตัวบวม

 

ดื่มมากๆ ทีเดียว VS ดื่มน้อยๆ แต่ทุกวัน

มีรายงานว่า การดื่มมากๆ ทีเดียว ดื่มหนักในปริมาณมากๆ รวดเดียว เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และตับอักเสบเฉียบพลันได้ ถ้ามีโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ ก็อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเหล่านั้นได้เช่นกัน ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้

หากดื่มน้อยๆ แต่ทุกวัน และดื่มในปริมาณที่เกินกว่าที่แนะนำ จะทำให้ตับค่อยๆ แย่ลง เกิดพังผืด จนกลายเป็นตับแข็งในอนาคตได้


เคล็ดลับการดื่มแอลกอฮอล์ ให้เสี่ยงอันตรายน้อยที่สุด

  1. ดื่มตามปริมาณที่กำหนด

  2. ไม่จำเป็นต้องดื่มทุกวัน ถ้าอยากดื่มทุกวันต้องไม่ดื่มมากเกินไป

  3. เลือกดื่มไวน์ มากกว่าเหล้า และเบียร์ เพราะมีประโยชน์มากกว่า

  4. ควรรับประทานอาหารลงท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะได้ไม่ถูกดูดซึมเร็วเกินไป

  5. ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตับได้เช่นกัน


สิ่งที่คุณหมออยากเตือน คือ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากรวดเดียว เพราะเสี่ยงตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และตับอักเสบที่ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว และพบได้บ่อยครั้งในคนไทย หากพบว่าตัวเองเป็นคนดื่มแล้วตัวแดงง่าย แปลว่าร่างกายของเรากำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ไม่เร็วมากพอ ไม่ควรดื่มซ้ำ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้หากมีสัญญาณของพิษสุราเรื้อรัง และแอลกอฮอล์ลิซึ่ม เช่น ตื่นเช้ามาก็อยากดื่มเลย หรือถ้าไม่ได้ดื่มจะหงุดหงิดงุ่นง่าน โมโหร้าย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook