แค่ตรวจ “ชีพจร” ก็รู้ความเสี่ยงโรค “หัวใจและหลอดเลือด” ได้

แค่ตรวจ “ชีพจร” ก็รู้ความเสี่ยงโรค “หัวใจและหลอดเลือด” ได้

แค่ตรวจ “ชีพจร” ก็รู้ความเสี่ยงโรค “หัวใจและหลอดเลือด” ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพียงวัดชีพจร 1 นาที ก็รู้ได้ว่าเราเสี่ยงโรคหัวใจมากแค่ไหน?

การวัดชีพจร ควรวัดตอนที่เรานั่งพักเฉยๆ สักระยะ หากเพิ่งทำกิจกรรมอื่นๆ ไป เช่น เพิ่งเดิน เพิ่งวิ่ง หรือทำงานหนักทำให้ใจเต้นหนักขึ้น ให้นั่งพักเฉยๆ 5-10 นาทีก่อนวัดชีพจร

วิธีตรวจชีพจรง่ายๆ เพียงวางนิ้วชี้ และนิ้วกลางลงบนข้อมือ กดเล็กน้อย จะรู้สึกถึงชีพจรที่เต้น จับเวลา 30 วินาทีหัวใจเต้นกี่ครั้ง แล้วนำตัวเลขมา x2 เพื่อให้ได้จำนวนหัวใจเต้นภายใน 1 นาที เพื่อความแม่นยำอาจลองนับ 2-3 ครั้งแล้วหาค่าเฉลี่ยได้

ในวัยผู้ใหญ่ ปกติแล้วชีพจรควรเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที และโดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีสุขภาพดีจะหัวใจเต้นต่ำกว่า 90 ครั้งต่อนาที


ชีพจร บอกอะไร?

หากหัวใจเต้นเป็นปกติ สามารถบอกได้ว่าปัญหาความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด เช่น คอเลสเตอรอล และโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจอื่นๆ อยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำ

ดร. เจสัน วาสฟี ผู้อำนวยการด้านคุณภาพ และการวิเคราะห์ของโรงพยาบาลหัวใจ Massachusetts General ในเครือมหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่า “ในกรณีนี้ การเต้นชีพจรที่ต่ำกว่า หมายถึงความสมบูรณ์ของการทำงานของหัวใจที่ดีกว่า บ่งบอกได้ว่าระดับความเสี่ยงของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจวาย ต่ำลงด้วย ในทางตรงกันข้าม หากหัวใจเต้นเร็ว หมายถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า เพราะหากหัวใจเต้นเร็ว อาจเป็นเพราะหัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกาย”

แต่หากหัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที อาจหมายถึงความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติได้


เช็กชีพจรเรื่อยๆ

หากรู้สึกว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ สามารถเช็กชีพจรเรื่อยๆ 2-3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ในช่วงเวลาที่แตกต่างไป เช่น เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน

ก่อนวัดชีพจร ไม่ควร

  • ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมหนัก เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นบันได หากเพิ่งทำกิจกรรมหนักๆ ไป ควรนั่งพักเฉยๆ 1-2 ชั่วโมงก่อนวัดชีพจร

  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากดื่มไปแล้วควรหยุดดื่มราว 1 ชั่วโมงก่อนวัดชีพจร

  • วัดชีพจรในตอนเช้าหลังตื่นนอน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด


วิธีลดชีพจร หรือการเต้นของหัวใจ

หากหัวใจเต้นเร็วเกิน 100 ครั้งต่อนาที มีวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดได้ นั่นคือ ออกกำลังกายเป็นประจำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที แล้วอย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ปล่อยให้ตัวเองอ่อนเพลีย

อนึ่ง ปัจจัยในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอีกมากมาย การตรวจชีพจรเป็นเพียงการตรวจด้วยตัวเองเบื้องต้นแบบง่ายๆ หากรู้สึกเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เมื่อทำกิจกรรมหนักๆ เช่น ออกกำลังกาย วิ่ง เดินขึ้นบันได ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook