“มะเร็งต่อมน้ำลาย” กับสัญญาณอันตรายที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรค

“มะเร็งต่อมน้ำลาย” กับสัญญาณอันตรายที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรค

“มะเร็งต่อมน้ำลาย” กับสัญญาณอันตรายที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มะเร็งต่อมน้ำลาย อีกอวัยวะหนึ่งที่สามารถเป็นโรคมะเร็งได้ หากพบในระยะแรกตามสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะสามารถรักษาให้หายได้


ต่อมน้ำลายอยู่ส่วนใดของร่างกาย ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

รศ.นพ. ณปฎล ตั้งจาตุรนต์รัศมี แพทย์เฉพาะทางสาขาโสต คอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า มนุษย์เราจะมีต่อมน้ำลายอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่

  • ต่อมน้ำลายหลัก

ต่อมน้ำลายหลักประกอบด้วยต่อมน้ำลาย 3 คู่ อยู่บริเวณกกหู ใต้คาง และ ใต้ลิ้น รวมเป็นทั้งหมด 6 ต่อม

  • ต่อมน้ำลายขนาดเล็ก

ต่อมน้ำลายขนาดเล็กจะอยู่ทั่วไปในช่องโพรงจมูก ในช่องว่างข้างคอหอย และในบริเวณริมฝีปาก รวมทั้งตำแหน่งเพดานอ่อน


เนื้องอกต่อมน้ำลาย อันตรายอย่างไร?

เนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณหน้ากกหู หรือแก้ม ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง แต่หากเป็นเนื้องอกขนาดเล็กของต่อมน้ำลายบริเวณโพรงจมูก ริมฝีปาก เพดานอ่อน กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมน้ำลาย


สัญญาณอันตราย “มะเร็งต่อมน้ำลาย”

ส่วนใหฯ่แล้วเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่ก้อนเนื้องอกไปกดเบียดเส้นประสาทในบริเวณใบหน้า เช่น

  1. หลับตาไม่ได้

  2. อ้าปาก ยิงฟัน แล้วยิ้ม มุมปากทั้งสองข้างยกขึ้นไม่เท่ากัน

  3. ก้อนบริเวณต่อมน้ำเหลืองโต

  4. พบก้อนเนื้อที่บริเวณหน้าหู ใต้คาง หรือใต้ลิ้น

  5. ก้อนเนื้องอกที่พบมีขนาดที่โตเร็วผิดปกติ

หากพบอาการดังกล่าวตามข้อใดข้อหนึ่ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อเร่งวินิจฉัย และทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป


วิธีตรวจมะเร็งต่อมน้ำลาย

แพทย์อาจทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย อาจทำการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ หรือตรวจเพิ่มเติมทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจอัลตร้าซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็ก


วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย

โรคมะเร็งต่อมน้ำลาย รักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัด โดยอาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งออก ร่วมกัยการเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอออกด้วยหากมีข้อบ่งชี้ หลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับผลเนื้อทางพยาธิวิทยาก่อน หากมีความจำเป็น แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีฉายแสงอีกครั้ง หรือรังสีรักษาบวกกับการให้ยาบำบัดร่วมด้วย


ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย

เมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว ควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเคร่งครัด และผู้ป่วยไม่มีข้อจำกัดด้านอาหาร เพียงแต่ควรเข้าพบแพทย์ตามเวลาที่นัดหมายทุกครั้ง

หากสงสัยว่าตัวเองอาจเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย สามารถเข้ารับการตรวจร่างกายได้ที่แผนกโสต คอ นาสิก อาคารภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook