วัยทำงาน เสี่ยง 5 ปัญหาโรคฟันที่อาจเป็นโดยไม่ทันตั้งตัว

วัยทำงาน เสี่ยง 5 ปัญหาโรคฟันที่อาจเป็นโดยไม่ทันตั้งตัว

วัยทำงาน เสี่ยง 5 ปัญหาโรคฟันที่อาจเป็นโดยไม่ทันตั้งตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วัยทำงานเป็นวัยที่ต้องพบปะพูดคุย สุขภาพของช่องปากจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้ามีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก ฟันผุ เหงือกอักเสบ ฟันเหลือง ฟันแตก ฟันบิ่น เป็นต้น ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ มักจะมีพฤติกรรมการกินจุบกินจิบ การอมลูกอมทำให้เสี่ยงต่อการฟันผุ ละเลยการแปรงฟันทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้ การเคี้ยวฟันโดยไม่รู้ตัวขณะเครียดเสี่ยงต่อการเกิดฟันบิ่นหรือแตกหัก บางคนดื่มชากาแฟทุกวันทำให้ฟันมีคราบสีเกาะติดตามผิวฟันและซอกฟันดูแล้วไม่สวยงามเวลายิ้ม ปัญหาภายในช่องปากหลายๆ ประการเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก และทำให้เสียบุคลิกภาพ

ทพญ.รัศมี จินดาโรจนกุล คลินิกทันตกรรมสตาร์เด็นท์ ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ลุมพินี) ได้กล่าวว่า ในวัยทำงานคืออายุ 25 ปีขึ้นไป เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ มีงานทำ หารายได้ได้ด้วยตัวเอง ต้องเข้าสังคมที่เป็นทางการมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น การดูแลทำความสะอาดร่างกายรวมทั้งช่องปาก จึงมากขึ้นตามไปโดยปริยาย การทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟันร่วมกับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน การใช้ไหมขัดฟันหลังอาหารทุกมื้อหรืออย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือนก็เพียงพอ  แต่สำหรับบางคนไม่ดูแลสุขภาพฟันอย่างเพียงพอก็ทำให้เกิดปัญหาได้ โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของคนทำงานจะเป็นเรื่องของ ฟันเหลือง เกิดจากคราบบุหรี่ ชา กาแฟ ทำงานดึกจนเพลินไม่ค่อยได้แปรงฟันก่อนนอนทำให้ฟันผุ การเคร่งเครียดขบฟัน กัดฟัน ทำให้ฟันแตก ปัญหากลิ่นปาก คราบหินปูน ซึ่งเราควรดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพฟันต่างๆ ด้วยข้อปฏิบัติดังนี้

  1. ฟันเหลืองจากคราบบุหรี่ ชา กาแฟ

    สามารถป้องกันได้ด้วยการลดการสูบบุหรี่ และดี่มเครื่องดื่มเหล่านี้ให้ลดลง ร่วมกับการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันบ่อยๆ หลังสูบบุหรี่ กรณีที่เครื่องดื่มมีรสหวานดื่มน้ำเปล่าตามเพื่อลดความหวานในช่องปากและรออย่างน้อย 30 นาทีค่อยแปรงฟัน กรณีที่มีคราบสีติดแน่นควรพบทันตแพทย์เพื่อขัดฟันทำความสะอาดเพื่อขจัดคราบสีเหล่านี้ให้ออกไปได้มากกว่าการแปรงฟัน

  2. ฟันผุ

    มักเกิดจากการละเลยการแปรงฟันและแปรงฟันไม่ทั่วถึงทุกบริเวณ รวมทั้งไม่ใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดฟันผุตามร่องฟันบนด้านบดเคี้ยวและตามซอกฟันได้ง่าย ควรแก้ไขด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ หลีกเลี่ยงอาหาร ผลไม้ หรือขนมขบเคี้ยวที่มีรสหวานจัด เปรี้ยวจัด เหนียวติดฟัน น้ำอัดลม โซดา รวมทั้งอาหารที่ประกอบด้วยแป้งและน้ำตาลในปริมาณสูง เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วถูกย่อยในช่องปากจะเปลี่ยนสภาพเป็นกรดได้อย่างรวดเร็ว มีฤทธิ์กัดกร่อนเคลือบฟัน ทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย จึงไม่ควรแปรงฟันทันทีในขณะที่ช่องปากยังมีความเป็นกรดสูงเพราะจะไปขัดสีเอาเคลือบฟันที่อ่อนนุ่มลงจากกรดในอาหารหลุดลอกออกไปได้ ควรรออย่างน้อย 30 นาทีเพื่อให้สภาพช่องปากกลับมาสู่สภาวะปกติก่อน
  3. กลิ่นปาก

    เกิดได้จากหลายสาเหตุอาจจะมีสาเหตุมาจากในช่องปากอย่างเดียวหรือมาจากอวัยวะในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารได้เช่นกัน ถ้าแก้ไขสาเหตุจากในช่องปากเรียบร้อยแล้วยังมีกลิ่นปากอยู่อีก ก็ต้องไปปรึกษาแพทย์ใน 2 ระบบข้างต้นด้วย สำหรับกลิ่นปากที่มีสาเหตุจากการในช่องปาก เกิดได้จากฟันผุ ฟันคุด และเหงือกอักเสบ ควรแก้ไขโดยการกำจัดสาเหตุดังกล่าว และป้องกันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เช้า เย็นและหลังอาหารทุกมื้อ

  4. ฟันแตกหัก

    เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน เช่น การใช้ฟันผิดประเภท ใช้ฟันกัดแทะอาหารที่แข็งเกินไปบ่อยๆและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การบดเคี้ยวฟันขณะเครียดหรือเวลานอน ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และอุบัติเหตุที่บริเวณใบหน้าและขากรรไกร ควรเดิน วิ่ง เล่นอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุบริเวณใบหน้าและขากรรไกร หากเกิดการแตกหักหรือบิ่นของฟันแล้ว ทันตแพทย์สามารถบูรณะฟันนั้นให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติได้

  5. คราบหินปูน และเหงือกอักเสบ

    เกิดจากการดูแลสุขภาพในช่องปากไม่ดีพอ จึงเกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ตามบริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน เมื่อแปรงฟันไม่ทั่วถึงก็จะเกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์มากขึ้นและเป็นเวลานานขึ้นจนกลายเป็นคราบหินปูน ภายในคราบจุลินทรีย์และหินปูนนั้นจะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ เมื่อแบคทีเรียได้รับอาหารจากที่เรารับประทานเข้าไปก็จะสร้างกรดขึ้นมารอบ ๆ บริเวณนั้น ทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกและเนื้อเยื่อปริทันต์ที่อยู่รอบ ๆ สามารถรักษาได้ด้วยการขูดหินปูน เกลารากฟัน หรือผ่าตัดสร้างเนื้อเยื่อปริทันต์ขึ้นมาใหม่

ดังนั้นเราควรดูแลสุขภาพฟัน และพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือนเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อยืดอายุฟันให้มีสุขภาพแข็งแรงไปนานๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook