ออกกำลังกายแบบไหน ดีต่อ “สมอง”
การออกกำลัง “กาย” ชื่อก็บอกอยู่เป็นการใช้ “ร่างกาย” ในการออกกำลัง ประโยชน์ที่ได้จึงตกอยู่กับทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะเป็นรูปร่างภายนอก หรือระบบร่างกายภายใน ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาล ระดับความดันโลหิต หรือระดับไขมันในเลือดที่ลดลงไปด้วย แต่ที่คนส่วนใหญ่อาจจะลืม คือ “สมอง” เองก็ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายเช่นเดียวกัน
การออกกำลังกาย VS สุขภาพสมอง
แม้ว่าการออกกำลังกายจะให้ประโยชน์กับร่างกายทุกส่วน แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการออกกำลังกายที่ใช่อวัยวะต่างๆ ในการพัฒนากล้ามเนื้อ รวมถึงกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายนั้นจะเกี่ยวข้องกับสมองมากน้อยแค่ไหน แต่หากให้อธิบายคร่าวๆ การออกกำลังกายส่งผลดีต่อสุขภาพสมองได้ ดังนี้
-
แอโรบิค รวมถึงวิ่ง และปั่นจักรยาน
ช่วยเพิ่มความจุของปอดให้แข็งแรง และหัวใจให้สามารถสูบฉีดโลหิตได้มาก และรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับการลำเลียงออกซิเจนไปที่อวัยวะส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเมื่อสมองเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับออกซิเจนมากขึ้น ช่วยเพิ่มเซลส์ของเส้นประสาทในสมองมากขึ้น และยังเพิ่มโปรตีนในสมองมากขึ้นอีกด้วย จึงทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ราวกับสมองของคนหนุ่มสาว
-
ออกกำลังกายเบาๆ อย่าง โยคะ ไท่เก๊ก รวมถึงการยกน้ำหนัก
จากรายงานบางส่วนพบว่า การออกกำลังกายเน้นส่วนอย่างการยกน้ำหนัก และการออกกำลังเบาๆ ช้าๆ อย่าง โยคะ และไท่เก๊ก ช่วยเพิ่มความจำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองได้ การออกกำลังกายแบบนี้จึงเหมาะกับผู้สูงวัย เพื่อลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้
ออกกำลังกายมากเท่าไร ถึงส่งผลดีต่อสมอง
ยังไม่มีรายงานศึกษาอย่างชัดเจนว่าต้องออกกำลังแบบไหน และเท่าไรถึงจะส่งผลต่อสมองได้มากน้อยเพียงใด สิ่งที่นักวิจัยและแพทย์มมักแนะนำ คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเป็นประจำ โดยเฉพาะวัยทำงาน และวัยสูงอายุที่เริ่มออกกำลังกาย และทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานน้อยลงเรื่อยๆ
แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ และจะส่งผลดีต่อทั้งสมอง และร่างกายหากเราเลือกวิธีออกกำลังกายที่หลากหลายไม่ซ้ำกันไปเรื่อยๆ
อย่าลืมรับประทานอาหารที่บำรุงสมองอย่างไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก ปลาทะเล ถั่ว ธัญพืช ผักผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และทำกิจกรรมฝึกสมองเมื่อมีเวลาว่าง เช่น เล่นเกมที่ฝึกความจำ คำนวณตัวเลขง่ายๆ เขียนไดอารี่ เพื่อทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เป็นต้น