วิธีปฐมพยาบาล เมื่อสัมผัส “สารเคมี” รั่วไหล-สูดดม “ควันไฟ”
ในแถบต่างจังหวัด หรือเขตอุตสาหกรรมที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ เช่น การไฟไหม้ หรือระเบิดของโรงงาน หรือรถขนส่งสารเคมีต่างๆ สารเคมีอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของเราได้ ดังนั้นหากเกิดเหตุขึ้น เราควรทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือตัวเอง และคนอื่น รวมถึงทราบวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อต้องสัมผัสกับสารเคมีที่อาจทำให้บาดเจ็บได้
อาการที่อาจเกิดขึ้น เมื่อสัมผัสกับสารเคมีอันตราย
- แสบร้อนบริเวณผิวหนัง
- แผลพุพอง
- ระคายเคืองตา
- หายใจติดขัด
- อ่อนเพลีย
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อต้องสัมผัสกับสารเคมี-สูดควันไฟ
เมื่อสารเคมีสัมผัสผิวหนัง หรือเข้าตา
- หากสารเคมีโดนเสื้อผ้า ให้ถอดเสื้อผ้า หรืออื่นๆ ที่เปื้อนสารเคมีออกก่อน
- ล้างตา หรือล้างผิวหนังส่วนที่สัมผัสสารเคมีด้วยน้ำสะอาดด้วยวิธีเปิดก็อกน้ำ หรือสายยางให้น้ำไหลผ่าน หรือรดน้ำอย่างต่อเนื่อง
- ล้างด้วยน้ำเปล่าจนกว่าอาการระคายเคืองจะลดลง
- โทร 1669 หรือรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
เมื่อสารเคมีเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดม
- พาตัวออกมาจากบริเวณที่สารเคมี หรือแก๊สรั่ว โดยผู้ที่เข้าไปช่วยต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันก่อน เช่น หน้ากากป้องกันสารเคมี
- พาออกมาในที่ที่อยู่เหนือลม
วิธีช่วยเหลือตัวเอง และผู้อื่น เมื่ออยู่ในสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้พร้อมควันพิษจากสารเคมี
- พยายามออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด หากออกมาได้แล้ว แต่พบว่ามีคนที่ยังติดอยู่ห้ามกลับเข้าไปเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ
- ถึงแม้เหตุการณ์ไฟไหม้จะสงบลงแล้ว ยังไม่ควรเข้าใกล้หรือสัมผัสสารเคมีในบริเวณนั้นโดยเด็ดขาด จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
- เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ได้กลับบ้านไปแล้วควรพักผ่อน ดื่มหรือจิบน้ำเพิ่มขึ้น
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก ไอ ระคายเคืองตา ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที
- ติดตามข้อมูลสถานการณ์จากหน่วยงานภาครัฐ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด