4 โรคร้ายทำลาย "ปอด"

4 โรคร้ายทำลาย "ปอด"

4 โรคร้ายทำลาย "ปอด"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"แค่กๆ แค่กๆ" เสียงคุ้นหูที่ไม่ต้องหันไปดูก็รู้ว่า เป็นเสียงไอที่เล็ดลอดผ่านลำคอออกมา บางคนดีหน่อยไอสองสามครั้งก็เป็นปกติ แต่สำหรับบางคน นอกจากมีอาการไอแล้ว ยังมีร่างกายซูบผอม สีหน้าอิดโรยอีกต่างหาก ถ้าจะให้เดา คน คนนั้นต้องสูบบุหรี่แน่นอน ทำไมน่ะเหรอ เพราะอาการไอ เป็นหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงการทำงานของปอดที่ไม่ปกติน่ะสิ

ในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบุหรี่โลก เพื่อรณรงค์ที่จะสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบและอันตรายที่เกิดจากบุหรี่และยาสูบ รวมไปถึงการรับบุหรี่มือสอง-สามเข้าสู่ร่างกาย โดยในปีนี้องค์การอนามัย (WHO) ได้กำหนดประเด็นที่ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกทำงานร่วมกับคือ Tobacco and Lung Health (บุหรี่กับสุขภาพปอด) สำหรับประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์คือ “บุหรี่เผาปอด” เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของปอด เพราะโรคที่เกี่ยวกับปอดส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาในการสะสมนานนับ 10 ปี ทำให้คนมองข้ามและละเลยจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

บุหรี่กับปอด เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อธิบายว่า ปอดเป็นด่านแรกที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุดเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งบุหรี่ทำให้เกิดโรคต่างๆ โดยจำนวนคนที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ครึ่งหนึ่งเกิดจากโรคปอด  คนไทยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด ถุงลมปอดพอง ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคของปอดเสียไป  และโรควัณโรค คนสูบบุหรี่ก็จะติดวัณโรคง่ายและกำเริบได้ง่าย

จากข้อมูลปี พ.ศ.2560 วิเคราะห์โดยภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่คือ เป็นมะเร็งปอด 13,727 คน ถุงลมปอดพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมเท่ากับ 35,412 คน

วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. นำทุกท่าน มาทำความรู้จัก กับ 4 โรคร้าย บุหรี่ทำลายปอด เพื่อร่วมกันรณรงค์ และตระหนักให้ตนเองและคนรอบข้างปลอดภัยจากควันบุหรี่กันค่ะ


4 โรคร้าย บุหรี่ทำลายปอด

1. มะเร็งปอด 

เกิดจากการที่ปอดได้รับสารเคมีที่เป็นพิษหรือเป็นสารก่อมะเร็งจากการหายใจ  โดยร้อยละ 85-90 ของมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่

อาการของมะเร็งปอด

  1. ไอเรื้อรัง  เสมหะมีเลือด เหนื่อยหอบ

  2. อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดกระดูก ปวดศีรษะ หากมีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะที่อื่น

  3. กลุ่มเสี่ยง หากไอต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ หรือไอผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เสมอ


2. ถุงลมโป่งพอง
 

ปอดของคนประกอบด้วยถุงลมเล็ก ๆ เป็นจำนวนนับล้าน ถุงลมมีขนาดเล็กมากกว่าปลายเข็ม ผนังถุงลมจะบางมากและมีเส้นเลือดฝอยอยู่ตามผนังถุงลม เวลาหายใจ อากาศที่มีออกซิเจนจะเข้าถึงถุงลมเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ที่ออกซิเจนซึมผ่านผนังถุงลมเข้าสู่เส้นเลือดฝอยเพื่อไปเลี้ยงร่างกาย คาร์บอนไดออกไซด์จะถูกขับออกจากเส้นเลือดฝอยเข้าสู่ถุงลม และถูกขับออกจากร่างกายโดยการหายใจออก

ในการสูบบุหรี่ ควันบุหรี่จะถูกดูดเข้าสู่ทางเดินหายใจไปจนถึงถุงลมปอด ซึ่งนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ ในควันบุหรี่จะถูกดูดซึมสู่เส้นเลือดฝอยที่บุตามถุงลม จากนั้นนิโคตินจะถูกพาไปตามกระแสเลือดไปสู่สมอง ซึ่งเป็นสารเสพติดที่ทำให้ผู้สูบติดบุหรี่


อาการของถุงลมโป่งพอง

  1. แน่นหน้าอก

  2. เหนื่อย หอบ เพราะมีการเสื่อมลงของปอดอย่างรวดเร็ว


3. วัณโรค
 

เนื้อปอดที่ถูกทำลายจากสารพิษในควันบุหรี่ ทำให้การขจัดเชื้อวัณโรคที่หายใจเข้าสู่ปอดมีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่ติดเชื้อวัณโรคง่ายขึ้น ผู้สูบบุหรี่ที่ได้รับเชื้อวัณโรคร่างกายจะควบคุมเชื้อไม่อยู่ ทำให้เกิดเป็นวัณโรคปอด

ในผู้ที่สูบบุหรี่และเป็นวัณโรค โรคจะรุนแรง ลุกลามเร็วและรักษายากขึ้น ผู้ที่สูบบุหรี่แล้วเป็นวัณโรคมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า

อาการของโรควัณโรค

  1. ไอเกิน 2 สัปดาห์

  2. ไอเสมหะมีเลือด

  3. น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

  4. เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ

  5. เบื่ออาหาร

  6. มีไข้ต่ำๆ เหงื่อออกกลางคืน


4. โรคภูมิแพ้ 

ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหลอดลม เกิดการหลั่งสารน้ำเหลืองออกมาในจำนวนที่มากกว่าปกติ ควันบุหรี่ทำให้ขนเล็กๆ ที่ผิวหลอดลมไม่ทำงาน โดยปกติขนเล็กๆ ทำหน้าที่โบกพัดฝุ่นและเสมหะออกจากหลอดลม เมื่อควันบุหรี่ทำให้ขนเล็กๆ ไม่ทำงาน ฝุ่นและเสมหะจะตกค้างในหลอดลม ส่วนคนที่เป็นหืด หากสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ อาหารจะรุนแรงและควบคุมยากขึ้น ปอดจะเสื่อมเร็วขึ้น ร่างกายตอบสนองต่อการรักษาน้อย และต้องใช้ยามากขึ้น

อาการหืดจับเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในคนที่เป็นหืด เมื่อลมหายใจมีสิ่งที่แพ้หรือระคายเคืองต่อหลอดลม ผิวหลอดลมจะเกิดอาการอักเสบ กล้ามเนื้อรอบหลอดลมหดตัวทำให้รูหลอดลมเล็กลง ส่งผลให้ลมหายใจเข้าออกลำบากเกิดเป็นอาการหืดจับขึ้น

ศ.นพ.ประกิต ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ผู้สูบบุหรี่และญาติรู้ถึงความจริงที่ว่า ปอดได้รับอันตรายจากการสูบบุหรี่ ทุกครั้งที่สูบบุหรี่เข้าไปจะคิดว่าไม่เป็นอะไร คงอีกนานกว่าจะเป็นวัณโรค มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แต่จริงๆ แล้ว บุหรี่ทุกมวนที่สูบทำให้เนื้อปอดถูกทำลาย แค่ควันบุหรี่เข้าตาเราก็แสบตาแล้ว ลองคิดดูว่าหากควันบุหรี่เข้าปอดจะเป็นอย่างไร เพียงแค่เราไม่รู้สึกเจ็บเท่านั้นเอง การสูบบุหรี่ทำลายปอดก็จะสะสมขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะเกิดอาการก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้นวิธีแก้รักษาปอดที่ดีที่สุดคือ เลิกสูบบุหรี่และพยายามหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสองและสาม เพราะทำให้เกิดอาการจับหืดได้ด้วย 

ทุกคนสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ เพียงแค่วันนี้ต้องเริ่มจากการวางบุหรี่ในมือลง เปิดใจที่จะก้าวไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม สสส.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างความตระหนักถึงอันตรายและพิษภัยของการสูบบุหรี่  รณรงค์ลดการบริโภคยาสูบในทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผู้สูบและผู้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสอง มือสาม

เลิกบุหรี่โทรฟรี 1600

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook