“เก็บยา” อย่างไรให้ถูกวิธี ไม่เสื่อมสภาพเร็ว
ในบ้านเรามักมียาสามัญประจำบ้านที่ติดตู้ยาสำหรับสมาชิกในครอบครัวอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ต้องมียารักษาโรคที่เป็นกันอยู่บ่อยๆ เช่น ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล ยาใส่แผล ยาแก้แพ้ ท้องอืดท้องเสีย และบางบ้านอาจมียาหม่อง ยาทาแผลฟกช้ำดำเขียวด้วย
แต่แม้ว่ายาจะยังไม่หมดอายุ แต่ถ้าเก็บยาไม่ถูกวิธี อาจเสื่อมสภาพลงก่อนเวลาอันควรได้ ซึ่งนอกจากจะไม่ให้ผลในการรักษาอย่างที่ควรเป็นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้อีกด้วย
>> ยาหมดอายุ ดูยังไง? ทานแล้วเป็นอันตรายหรือไม่?
>> วิธีสังเกต “ยาหมดอายุ” ดูอย่างไร?
“เก็บยา” อย่างไรให้ถูกวิธี ไม่เสื่อมสภาพเร็ว
- เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้องที่ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ยกเว้นยาที่ระบุชัดเจนว่าให้เก็บในตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในที่ที่โดนแสงแดด รวมถึงมีอากาศชื้น เช่น ห้องน้ำ ริมหน้าต่างห้องนอน ฯลฯ
- เก็บยาในที่ที่พ้นมือเด็ก
- ไม่ควรเก็บยาไว้ในที่ที่มีอากาศร้อน เช่น ในรถยนต์ หลังตู้เย็น ตู้อบ ตู้ไมโครเวฟ
- ยาที่บรรจุแผง ไม่ควรเก็บยาโดยการตัดแผงยาแยกเป็นเม็ดๆ เพราะจะไม่สามารถเช็กวันหมดอายุได้
- ยานับเม็ดจากแพทย์ที่ไม่ได้อยู่ในแผงยา ไม่ควรนำมาใช้หลังจากได้รับยาเกิน 12 เดือน
ก่อนรับประทาน และใช้ยาทาภายนอก ควรสังเกตวันเดือนปีที่หมดอายุให้ดี สังเกตคุณภาพของยาให้ดีว่ายังอยู่ในสภาพสมบูรณ์เหมือนตอนที่ได้รับมาครั้งแรกหรือไม่ สี กลิ่น รูปร่างของยาเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติ ไม่ควรบริโภค หรือหากไม่แน่ใจ สามารถนำยาไปปรึกษาเภสัชกรได้เช่นกัน