เราอาจกำลังเสี่ยงกิน “พลาสติก” ลงท้องทุกสัปดาห์
พบงานวิจัยที่เผยว่า เรากำลังกินพลาสติกหนักราว 5 กรัม ใกล้เคียงกับน้ำหนักของบัตรเครดิต ลงในกระเพาะอาหารทุกสัปดาห์ หรือราว 21 กรัมต่อเดือน และ 250 กรัมต่อปี
โดยการปนเปื้อนของพลาสติกจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นพลาสติกประเภท “ไมโครพลาสติก” (microplastics) ที่มีลักษณะเป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอาจพบได้ในอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งในอากาศ
จากรายงานของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในประเทศออสเตรเลียพบว่า ผู้คนทั่วโลกกินไมโครพลาสติกที่มาพร้อมอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งอากาศเข้าสู่ร่างกายราว 2,000 หน่วยต่อสัปดาห์
ไมโครพลาสติก มาจากไหน?
ไมโครพลาสติกที่เราอาจเจอปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม แม้กระทั่งในอากาศทุกวันนี้มาจากหลายแหล่งด้วยกัน ทั้งเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ เม็ดบีดขนาดเล็กในยาสีฟัน หรืออาจมาจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกขนาดใหญ่ที่ถูกทิ้งในที่กลางแจ้ง จากนั้นจึงปนเปื้อนไปกับน้ำในแม่น้ำลำธาร ทะเล มหาสมุทร อาจถูกสัตว์น้ำอย่างปลาชนิดต่างๆ กินเข้าไป จนกลายเป็นห่วงโซ่อาหารที่มนุษย์เรากินสัตว์น้ำต่ออีกทอดหนึ่ง
ไมโครพลาสติก ปนเปื้อนในอาหารชนิดใดบ้าง?
ไมโครพลาสติกสามารถพบการปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น น้ำเปล่า เบียร์ ปลา หอย หรือแม้กระทั่งเครื่องปรุงรสอย่างเกลือ แต่จากรายงานพบว่าพบไมโครพลาสติกมากที่สุดใน “น้ำดื่ม” โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของคนๆ หนึ่งที่รับไมโครพลาสติกจำนวน 1,769 หน่วยต่อสัปดาห์เข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มน้ำเปล่าเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มจากขวด หรือจากก๊อกน้ำ โดยในปี 2018 น้ำดื่มของฝั่งประเทศอเมริกา และอินเดีย พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากกว่าน้ำก๊อกจากประเทศยุโรป และอินโดนีเซียถึงสองเท่า นั่นหมายความว่าพบไมโครพลาสติกจากน้ำดื่มในขวดมากกว่าจากน้ำก๊อกด้วยนั่นเอง
ไมโครพลาสติก ทำอันตรายอะไรต่อร่างกายของเราได้บ้าง?
น่าเสียดายที่ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับโทษของพลาสติกที่คนรับประทานเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน แต่สิ่งที่แน่ใจคือหากพบว่าพลาสติกที่สะสมเป็นเวลานานในร่างกายทำร้ายสุขภาพของเราจริงๆ ก็เป็นเรื่องยากที่จะกำจัดออกไปจากร่างกาย ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดคือการลดการปนเปื้อนของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น
ปัจจุบันทั่วโลกผลิตพลาสติกมากกว่า 330 ล้านเมตริกตันต่อปี (ราว 330,000 กิโลกรัม) และมีการคาดการณ์ว่าอาจเพิ่มจำนวนการผลิตสูงขึ้น 3 เท่าภายในปี 2050