รู้จักเครื่องเอคโม (ECMO) ที่ช่วยพยุงหัวใจ-ปอดของ “น้ำตาล เดอะสตาร์”
จากข่าวของ “น้ำตาล เดอะสตาร์” ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยระบุว่าใช้ เครื่องเอคโม (ECMO) ในการช่วยเหลือเธอระหว่างการเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลสมุทรสาครมาที่โรงพยาบาลศิริราช เครื่องนี้ยังเคยถูกใช้ตอนพยายามช่วยชีวิตหนุ่มปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ มาก่อนอีกด้วย ใครที่ยังไม่รู้ว่าเครื่องเอคโมทำหน้าที่อะไร มีความสำคัญอย่างไร Sanook! Health รวบรวมข้อมูลมาฝากกัน
>> "น้ำตาล เดอะสตาร์" เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ หลังล้มป่วยด้วยโรคปริศนา
>> ทีมแพทย์เผยอาการ "น้ำตาล เดอะสตาร์" สมองบวมต้องใช้ปอดเทียม ยังหาสาเหตุเลือดออกไม่พบ
เครื่องเอคโม (ECMO) คืออะไร?
เครื่องเอคโม (ECMO: Extracorporeal Membrane Oxygenation) คือ เครื่องที่ช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ และปอด ในสภาวะที่หัวใจ และปอดของผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือเกิดความผิดปกติขึ้น โดยหลักการของเครื่องเอคโม ไม่ได้เป็นการรักษาหัวใจ และปอดให้ทำงานได้ตามปกติ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำงานแทนหัวใจ และปอด ให้หัวใจ และปอดได้พักผ่อนหลังพยายามทำงานมาอย่างหนักเท่านั้น
เครื่องเอคโม ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
เครื่องเอคโม อาจเรียกได้สั้นๆ ว่าเป็นหัวใจ และปอดเทียม เพราะทำหน้าที่เหมือนหัวใจ และปอดของเรา เช่น เอาเลือดออกมาแลกเปลี่ยนอากาศนอกร่างกาย เอาออกซิเจนเข้าไป เอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
เครื่องเอคโม ใช้ในกรณีใด?
เครื่องเอคโมจะถูกนำออกมาใช้ในกรณีที่หัวใจ และปอดล้มเหลว อาจจะมีสาเหตุมาจากเลือดเข้าไปอุดหลอดลมทั้งสองข้าง ทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ จนทำให้หัวใจไม่มีออกซิเจน และหยุดเต้น หรืออาจเป็นกรณีที่หัวใจของผู้ป่วยทำงานหนักเกินไปจนไม่สามารถใช้ยากระตุ้นหัวใจได้
วารสาร ฬ จุฬา
เครื่องเอคโม (ECMO) ช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ และปอด
วิธีการใช้เครื่องเอคโม
คร่าวๆ แพทย์จะใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดใหญ่เข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ ซึ่งมักเป็นหลอดเลือดดำที่โคนขา เพื่อดูดเลือดออกไปเข้ากระบวนการเติมออกซิเจน และขับคาร์บอนไดออกไซด์ และจะส่งเลือดดีกลับเข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ที่คอ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขา
เครื่องเอคโม ใช้ชั่วคราวเท่านั้น
เครื่องเอคโมเป็นเครื่องที่ช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ และปอดเพียงชั่วคราว แม้ว่าจะสามารถใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้เป็นสัปดาห์ แต่จริงๆ แล้วเป็นการช่วยพยุงร่างกายของผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เพื่อรอให้แพทย์เฉพาะทางทำการรักษาอย่างจำเพาะเจาะจงอีกครั้ง
ผู้ป่วยที่ไม่ควรใช้ ECMO
ผู้ป่วยที่มีอวัยวะที่เสียหายมากจนไม่สามารถกู้คืนได้ รวมถึงอวัยวะล้มเหลวหลายจุด มักจะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ ECMO และโดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใส่สารกันเลือดแข็งตัวไว้
การรักษาด้วย ECMO ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่แนะนำให้มีผู้เชี่ยวชาญ ECMO คอยให้ข้อบ่งชี้ข้อห้ามในแต่ละกรณี
ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้เครื่องเอคโม
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องใส่สารกันเลือดแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยมากกว่า 50% จะต้องเจอกับอาการตกเลือด
- การอุดตันในวงจร ECMO สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องสูบหรือเครื่องให้ออกซิเจน (Oxygenator) ใน VA - ECMO สามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองหรือ Leg Ischemia (ขาขาดเลือด)
- การจัดการเรื่อง ECMO จะรวมถึงการตรวจสอบเลือดเพื่อหาความสมดุลของเลือดที่แข็งตัวที่ดีที่สุด
- ภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อ
- หากวงจร ECMO ล้มเหลวหรือแตกอาจนำไปสู่ภาวะโรคหัวใจที่ร้ายแรง แต่เป็นเรื่องที่ไม่ปกติตราบใดที่ทุกองค์ประกอบมีความปลอดภัย
- ท่อพลาสติกต่อจากเครื่องกับร่างกายของผู้ป่วยสามารถเป็นปัญหาได้หากหลุดหรืออยู่ในจุดที่ผิด จะมีผลต่อการไหลเวียนเลือดและประสิทธิภาพ ECMO
การใช้เครื่องเอคโมจำเป็นต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญ และมีความรู้ ประสบการณ์ในการใช้งานเครื่องนี้เป็นอย่างดี และระหว่างการใช้งานควรมีพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของวงจร ECMO อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหา และตอบสนองทันทีในกรณีล้มเหลวเฉียบพลัน