รู้จักโรคระบาดจาก “สัตว์สู่คน” อันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

รู้จักโรคระบาดจาก “สัตว์สู่คน” อันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

รู้จักโรคระบาดจาก “สัตว์สู่คน” อันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันมีโรคติดต่ออุบัติใหม่จาก “สัตว์สู่คน” มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามีโรคชนิดใดบ้าง โรคจากสัตว์ติดต่อสู่คนได้อย่างไร และควรระมัดระวังการติดต่อของโรคจากสัตว์ชนิดใดบ้าง Sanook! Health มีข้อมูลจาก  มาฝากกัน


โรคระบาดจาก “สัตว์สู่คน”

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า โรคที่มาจากสัตว์ และสามารถติดต่อสู่คนได้ มีทั้งที่มาจากสัตว์ใกล้ตัวอย่างสุนัข แมว ไปจนถึงแมลงอย่าง ยุง ไร ริ้นต่างๆ โดยเชื้อโรคที่ติดต่อได้ไม่มีเพียงเชื้อไวรัสเท่านั้น ยังมีเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคประหลาดๆ อย่างอื่นอีกมากมาย


การติดต่อโรคจากสัตว์สู่คน

การติดต่อโรคจากสัตว์สู่คนมีได้หลายวิธี เช่น

  • การสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค หรือเป็นพาหะ เช่น จับค้างคาว หนู
  • สัมผัสกับมูลสัตว์ที่เป็นโรค
  • ถูกกัดจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่น สุนัข แมว กระต่าย
  • บริโภคสัตว์ที่เป็นโรค เช่น นก หนู หมู วัว ทั้งจากการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านั้นโดยตรง และการชำแหละ หั่น ปรุงเนื้อสัตว์เหล่านั้นด้วยมือของเราเอง ฝุ่นฝอยละอองจากเนื้อสัตว์ และของเหลวต่างๆ ในเนื้อสัตว์อาจเข้าเยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย เช่น สูดดมผ่านจมูก หรือนิ้วมือจับเนื้อสัตวมาขยี้ตา ฯลฯ

โดยสัตว์เหล่านี้อาจมีอาการป่วยให้เห็น หรือไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยก็ได้ เพราะอาจเป็นสัตว์ที่อมโรค หรือเป็นพาหะเท่านั้น

>> ระวัง! 6 โรคร้ายที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่คนได้


ตัวอย่างกลุ่มโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน

  • ไข้สมองอักเสบนิปาห์ (ค้างคาว)
  • โบทูลิซึม (วัว สุนัข ม้า นก)
  • แอนแทรกซ์ (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบทุกชนิดรวมถึงสัตว์ปีกบางชนิด)
  • แผลหนอนแมลงวัน (แมลงวัน)
  • พยาธิแส้ม้า (สุนัขบ้าน และสุนัขป่า)
  • ท็อกโซพลาสโมซิส (แมว แกะ แพะ สุกร สุนัข)
  • คริปโตคอกโคสิส (วัว สุนัข เฟอร์เร็ต หนูตะเภา ม้า แกะ แพะ สุกร ลามะ และสัตว์ชนิดอื่น)
  • พยาธิตัวกลม (สุนัข แมว)
  • ลิชมาเนีย (สุนัข โคโยตี้ สุนัขจิ้งจอก สัตว์แทะ แมว ม้า)
  • โรคจากการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนพยาธิ (สุนัข  สุกร กระต่าย แกะ โค สัตว์ตระกูลลิง ไก่ ไก่ป่า  แมวน้ำ และสัตว์ชนิดอื่นๆ)
  • พยาธิปากขอ (สุนัข แมว)
  • ไข้หวัดนก (สัตว์ปีก)
  • ไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (ค้างคาว ม้า แมว สุนัข สกั้งค์ กระรอก กระต่าย จระเข้ และคน)
  • ฝีดาษลิง (ลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด)
  • พิษสุนัขบ้า (สุนัข แมว โค กระบือ ม้า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด)
  • นิวคาสเซิล (ไก่งวง เป็ด ห่าน นกแก้ว นกพิราบและนกกาน้ำ)
  • สมองอักเสบญี่ปุน (ม้า ลา สุกร โค แกะ แพะ สุนัข แมว สัตว์ป่า สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนก)
  • ติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (ม้า ค้างคาว แมว หนูตะเภา สุนัข กระต่าย ไก่)
  • ติดเชื้อไวรัสฮันตา (สัตว์ฟันแทะที่อาศัยในป่า)
  • ไข้หวัดใหญ่ (นก สุกร ม้า เฟอร์เร็ต และแมว)
  • สเตรปโทคอกโคสิส (ม้า หนูตะเภา สุกร สุนัข แมว ปลา ลิง วัว แกะ แพะ เฟอร์เรต และสัตว์ปีก)
  • ไข้คิว (แกะ แพะ วัว สุนัข แมว กระต่าย ม้า สุกร อูฐ กระบือ สัตว์ฟันแทะ และนกบางชนิด)
  • กาฬโรค (กระรอก กระจง หนู  แมว กระต่าย สัตว์ป่าที่กินเนื้อ แพะ แกะ และอูฐ)
  • ลายม์ (เห็บ สุนัข ม้า วัว กวางหางขาว หนูไมซ์ สัตว์จำพวกกระรอกเทา และแรคคูน)
  • เลปโทสไปรา (วัว แกะ แพะ หมู สุกร สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล)
  • ติดเชื้ออีโคไล (วัว แกะ สุกร กวาง สุนัข และสัตว์ปีก)
  • วัวบ้า (วัว แกะ แพะ สุกร มิ้งค์ หนู ลิงมาโมเซท และลิงบางชนิด)


อาการเมื่อติดเชื้อโรคจากสัตว์

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีอาการติดเชื้อโรคต่างๆ จากสัตว์ จะมีอาการดังนี้

  1. มีไข้
  2. ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  3. ปอดอักเสบ
  4. ไต/ตับ อักเสบ

เป็นต้น


อันตรายจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

แต่ละโรคอาจมีอาการของโรคต่างกัน แต่อันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ติดเชื้อโรคจากสัตว์ หรือติดจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากสัตว์อีกต่อหนึ่ง คือ ความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้ออื่นๆ ที่ต้องการการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะลามไปติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่นๆ จนให้การรักษาไม่ทัน


การวินิจฉัยโรคจากสัตว์สู่คน

เมื่อกลุ่มของโรคจากสัตว์สู่คนค่อนข้างกว้าง แบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มตามเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงจำเป็นต้องมีการซักประวัติเพื่อให้ได้ช่วงการสัมผัสกับสัตว์ที่แน่นอน ว่าที่ผ่านมาเข้าใกล้กับสัตว์ตัวไหน สัมผัส หรือโดนสัตว์ชนิดใดกัดมาบ้างหรือไม่ รวมถึงไปสัมผัส หรือใกล้ชิดกับคนที่มีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ เพื่อดำเนินการตรวจเลือด หรือสารคัดหลั่งเพื่อหาสาเหตุของโรคได้ต่อไป


ปัจจุบัน โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน อยู่ในการควบคุมของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และยังไม่มีรายงานการติดต่อของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนอย่างรุนแรงชนิดที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้มาก่อน หากมีข้อสงสัย หรืออยากติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้โดยตรงที่ศูนย์วิทยาศาสตร์โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook