“โรคซึมเศร้า” กับอาหารที่ควร-ไม่ควรรับประทาน ระหว่างเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์

“โรคซึมเศร้า” กับอาหารที่ควร-ไม่ควรรับประทาน ระหว่างเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์

“โรคซึมเศร้า” กับอาหารที่ควร-ไม่ควรรับประทาน ระหว่างเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคสมัยที่เราพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น นอกจากการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยเข้าใจอาการของตัวเอง รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วแล้ว ยังมีอาหารที่อยากแนะนำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับประทาน เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย


อาหารช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า

นางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการประจำรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพยารักษาของแพทย์ยิ่งขึ้น มี 5 กลุ่มและเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด

อาหาร 5 กลุ่มประกอบด้วย

  1. กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ คือ โอเมก้า 3 ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ อาทิ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว เป็นต้น

  2. ไข่ มีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟน(Tryptophan) และไทโรซีน (Tyrosine) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยสารทริปโตเฟนจะช่วยสร้างสารซีโรโทนิน (Serotonin)ทำให้อารมณ์ดี และยังเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน (Melatonin)ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

  3. กล้วย มีแร่ธาตุโพแทสเซียมและมีสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล

  4. คาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อน อาทิ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย

  5. เห็ดทุกชนิด จะมีธาตุเซเลเนียม(Celenium )สูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้


ส่วนเครื่องดื่ม 2 ชนิดที่เป็นผลดีกับอารมณ์เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่

  1. น้ำอัญชัน ในดอกอัญชันจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวลและช่วยให้นอนหลับ

  2. น้ำลำไยซึ่งมีสาร 2 ชนิดคือกรดแกลลิก (Gallic acid) ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น


อาหารบางอย่าง ขัดขวางการรักษาโรคซึมเศร้า

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ระบุว่า ฝ่ายเชี่ยวชาญของรพ.จิตเวชฯ วิเคราะห์ประเภทอาหารที่เป็นผลดีและเป็นผลเสียต่อโรคซึมเศร้า และยาที่ใช้รักษาอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะฟื้นฟูอยู่ที่บ้าน และขณะนี้มีการโฆษณาอาหารต่างๆผ่านทางสื่อจำนวนมาก อาหารบางอย่างอาจมีสารที่มีผลขัดขวางกับฤทธิ์ยารักษาโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารที่รับประทาน เพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆ ซ้ำเติมผู้ป่วยอีก


อาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามรับประทาน

สำหรับกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามรับประทาน เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยาที่รักษามี 2 ประเภท และเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด

ประเภทอาหาร ได้แก่

  1. อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด เนื่องจากอาหารที่มีน้ำตาลสูง ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด หากเผชิญเป็นประจำอาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

  2. อาหารประเภทไส้กรอก และถั่วปากอ้า ซึ่งมีสารไทรามีนสูง สามารถทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน (Selegiline) จะส่งผลให้มีสภาวะความดันโลหิตสูงได้


เครื่องดื่ม 3 ชนิด ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรดื่มเป็นอย่างยิ่ง คือ

  1. ชา-กาแฟ เนื่องจากมีปริมาณคาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากดื่มเกินกว่า 2 แก้วต่อวัน จะทำให้ปริมาณคาเฟอีนในร่างกายสูง ทำให้วิตกกังวล ใจสั่นและเครียดเพิ่มขึ้น

  2. น้ำอัดลม โดยเฉพาะน้ำอัดลมประเภทสีดำ เนื่องจากมีทั้งปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลสูง รวมทั้งน้ำอัดลมประเภทสีดำและไดเอต มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า ผู้ป่วยซึมเศร้าจึงควรเลี่ยงดื่มจะดีที่สุด

  3. น้ำผลไม้บางชนิด เช่น น้ำในตระกูลส้ม เสาวรส น้ำองุ่นหรือเกรฟฟรุต เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาเท่าที่ควร


นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 1.4 ล้านคน เฉพาะที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งอยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ยอดรวมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 66 จึงขอให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่ยังไม่เข้ารักษาตัวซึ่งมีประมาณร้อยละ 30-40 อย่าอายหมอ ขอให้รีบไปรักษาที่รพ.ที่อยู่ใกล้บ้านทุกแห่ง จะได้หายจากความทุกข์ทรมาน 

>> ทำความรู้จัก "โรคซึมเศร้า" และวิธีการดูแล ฟื้นฟู จิตใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook