5 “ยาเสพติด” อันตรายที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน

5 “ยาเสพติด” อันตรายที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน

5 “ยาเสพติด” อันตรายที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าภาครัฐจะให้ความรู้ คำแนะนำ และอันตรายของยาเสพติดอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการเพิ่มโทษสำหรับผู้ขาย และผู้เสพ ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่กระนั้นเราก็ยังเห็นตามหน้าข่าวอยู่บ่อยๆ Sanook! Health รวบรวมข้อมูลยาเสพติดที่พบมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาให้ทราบกัน

  1. LSD

แอลเอสดี (lysergic acid diethylamide) เป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างแรง เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาจาก lysergic acid ของสารจำพวก ergot ซึ่งเป็นรา (fungus) ที่ขึ้นอยู่ตามเมล็ดข้าวไร ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย

ลักษณะของยา : มักเสพโดยการรับประทานสูดดม เคี้ยว หรืออม  มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เม็ดกลมแบน แคปซูล แผ่นเจล (gelatin sheets) ของเหลวบรรจุในหลอดแก้ว ส่วนใหญ่ที่พบจะนำเอา LSD ไปหยดลงบนกระดาษสี่เหลี่ยม ที่มีคุณสมบัติดูดซับ เรียกว่า blotter paper ที่มีลวดลายและสีสันต่างๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ คล้ายสแตมป์ นิยมเรียกกันในหมู่ผู้เสพว่า สแตมป์เมา กระดาษเมา (magic paper) จะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที และมีฤทธิ์อยู่ได้นาน 8 – 12 ชั่วโมง

การออกฤทธิ์ : ทำให้รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เหงื่อออก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปากแห้ง และมือไม้สั่น ผู้ที่เสพในระยะแรก ๆ จะมีความสุข อารมณ์ดี รู้สึกคึกคัก แต่หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง มีอาการหวาดกลัว จนกระทั่งอาจทำร้ายตนเอง หรือนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยที่ผู้นั้นไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ หากเสพแอลเอสดีติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคจิตได้

  1. ยาบ้า

ยาบ้า หรืออดีตชื่อยาม้า หรืออีกชื่อคือ เมทแอมเฟตามีน ผลิตโดยมีสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีแอมเฟตามีนเป็นส่วนประกอบ เดิมทีเคยถูกใช้เป็นยารักษาโรค Narcolepsy หรือโรคงีบหลับตลอดเวลาแบบไม่รู้ตัว รวมทั้งมีการนำมาใช้กับเด็กที่มีอาการไฮเปอร์ อยู่ไม่นิ่งและไม่สามารถควบคุมสมาธิในการเรียนได้ และด้วยฤทธิ์ของยาจึงมีการนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์

ลักษณะของยา : ยาบ้ามีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีส้ม แดง น้ำตาล เขียว มีอักษร WY, Y, R

การออกฤทธิ์ : ยาบ้าออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางด้วยการกระตุ้นประสาท ทำให้เกิดการตื่นตัว ไม่ง่วง ตื่นตัวมีกำลังวังชา ทำให้อัตราการเต้นของจังหวะหัวใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง มีอาการใจสั่น ตึงเครียด เมื่อฤทธิ์ยาหมดลงผู้เสพจะมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ระบบสั่งการทางสมองทำงานช้าลง การตัดสินใจช้าและเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ผู้เสพยาบ้าจะมีอาการอยู่ไม่นิ่ง ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรตลอดเวลาอย่างที่ไม่เป็นมาก่อน แขนขาสั่น กลิ่นตัวแรง ลมหายใจเหม็น

  1. เฮโรอีน

เฮโรอีน เป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์รุนแรง สังเคราะห์ได้จากเมล็ดฝิ่น

ลักษณะของยา : เฮโรอีนจะมีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาวหรือขาวเข้มจนถึงสีน้ำตาล หรืออาจมีลักษณะเป็นก้อนเหนียวสีน้ำตาลที่มีสารประกอบของทาร์เรียกว่า “black tar heroin” โดยผู้ใช้จะเสพเฮโรอีนโดยการสูดเข้าทางจมูก สูบ หรือฉีดเข้าทางเส้นเลือด สีของเฮโรอีนสามารถบอกได้ถึงความบริสุทธิ์ได้ โดยเฮโรอีนที่มีสีขาวขุ่นหรือสีน้ำตาลจะมีส่วนประกอบของสารเคมีอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าสีขาวที่เป็นเฮโรอีนบริสุทธิ์

การออกฤทธิ์ : เฮโรอีนออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้ผู้เสพเกิดอาการอิ่มเอมใจ มีความสุข มีอาการปากแห้ง และตัวแดงจากการไหลเวียนของเลือด นอกจากนี้ ยังเกิดความรู้สึกหนักมือ เท้า หรือขาด้วย โดยจะออกฤทธิ์ได้นานถึง 3-5 ชั่วโมง และเมื่อยาหมดฤทธิ์ลง ผู้เสพจะมีอาการกึ่งง่วงกึ่งตื่น อาจทำให้เกิดอาการมึนเมาและสมองตื้อ ซึ่งเป็นอาการที่ยังไม่สร่างจากการเมายา เนื่องจากฤทธิ์ของยาได้ไปกดประสาทและระบบประสาทส่วนกลางไว้ ผู้เสพอาจมีอาการพูดไม่ชัด เปลือกตาปิด มองไม่ชัดในตอนกลางคืน ปวดตามส่วนต่างๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ สันหลัง บั้นเอวและปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการจุกภายในอกราวกับจะขาดใจตาย อ่อนเพลียอย่างหนัก มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ทุรนทุรายอึดอัด ผู้ที่เสพติดหนักๆ บางรายอาจมีอาการชักตาตั้ง น้ำลายไหลฟูมปาก ม่านนัยน์ตาดำหดลง มึนงง หายใจไม่ออก ความจำเสื่อม หากเสพเกินขนาดอาจเสียชีวิตได้

  1. ยาอี

ยาอี หรือยาเลิฟ เป็นยาเสพติดที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาโดยมนุษย์ ถูกใช้ในกลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างมาก เพราะออกฤทธิ์ต่อสาเคมีในสมอง ทั้งเซโรโทนิน และนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งทำให้รู้สึกมีความสุข สนุกสนาน และส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศ แต่หลังจากนั้นอาจเกิดภาพหลอน วิตกกังวล ไปจนถึงอาการซึมเศร้า ที่เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายหลังใช้ยาได้

ลักษณะของยา : ยาอีมีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน ด้านหนึ่งนูนหรือเรียบ หรือมีขีดแบ่งครึ่ง อีกด้านหนึ่งพิมพ์รูปภาพ หรืออักษรต่างๆ เช่นรูปดอกไม้ ผีเสื้อ การ์ตูน หรือเป็นตัวอักษรเช่น adam, love เป็นต้น เสพด้วยวิธีรับประทาน

การออกฤทธิ์ : ยาอีออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้นประสาท และหลอนประสาท มีสูตรโครงสร้างคล้ายกับ เมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า แต่มีฤทธิ์ที่รุนแรงกว่าประมาณ 10 เท่า โดยออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท และ ทำลายเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับความคิดและความจำเช่นเดียวกัน ผู้เสพจะรู้สึกสนุกสนาน มีอารมณ์เป็นสุข และมีอาการประสาทหลอน เห็นภาพที่ผิดปกติ ได้ยินเสียงผิดธรรมชาติ ความคิดสับสน หวาดวิตก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น หายใจเร็ว นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกระตุก มีอาการอยู่ไม่สุข ยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากเสพเข้าไปภายในเวลา 30-45 นาที และมีฤทธิ์อยู่ในร่างกายได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แล้วถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อ และปัสสาวะ หมดภายในประมาณ 72 ชั่วโมง แต่ยาอีจะทำให้รู้สึกติดยา อยากหามาเสพเรื่อยๆ และต้องเพิ่มขนาดของยาไปเรื่อยๆ หากเสพยาเกินขนาดอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และเสียชีวิตได้

  1. กัญชา

กัญชา เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ใบแตกเป็นแฉกคล้ายใบสำปะหลังหรือใบละหุ่ง มีสารเคมี cannabinoids ที่เชื่อว่าออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีการค้นคว้าเกี่ยวกับฤทธิ์ของ thc นำไปสู่การผลิตยา dronabinol (marinol) ซึ่งมีส่วนผสมของ thc สำหรับใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์

ลักษณะของยา : กัญชานิยมเสพโดยการสูบจากใบแห้ง

การออกฤทธิ์ : ฤทธิ์ของกัญชาเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย จะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง อาการโดยทั่วไปจะเซื่องซึมลงอย่างช้าๆ แต่บางรายก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้เสพกัญชาจะมีอาการเคลิ้มจิต โดยในขั้นต้นๆ มักจะเป็นอาการกระตุ้นประสาท และบางคนจะมีอาการตึงเครียดทางใจหรืออาการกังวล ต่อมาก็มีอาการเคลิ้มจิตเคลิ้มใจ ทำให้ผู้สูบรู้สึกว่าบรรยากาศทั่วๆ ไปเงียบสงบ จากนั้นมักจะมีปฏิกริยาที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เดี๋ยวหัวเราะลั่นเดียวสงบ นอกจากนี้ผู้เสพจะรู้สึกล่องลอย ปากแห้ง สับสน อยากอาหาร ชีพจรเพิ่มขึ้น ตาแดงขึ้นในขณะที่เสพยา หากเสพเป็นประจำจะทำให้สุขภาพเสื่อมลง ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบทางเดินหายใจอักเสบ ตะคริว ท้องร่วง หากเลพกัญชาเกินขนาดอาจมีอาการช็อก และเสียชีวิตได้


อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายของไทยแบ่งโทษของการเสพ ครอบครอง และขายในยาเสพติดแต่ละชนิดต่างกัน โดยมีโทษตั้งแต่จำคุกไม่เกิน 1 ปี ไปจนถึงจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สามารถเช็กโทษทางกฎหมายของการเสพ ครอบครอง และขายยาเสพติดในประเทศไทยได้ที่ เว็บไซต์ Thailaw.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook