"ไข้เลือดออก" กับ 4 อาการเด่น-ความรุนแรงของโรคที่ควรสังเกต
ไข้เลือดออกคือโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ที่มียุงลายเป็นพาหะ ในประเทศไทยไวรัสเดงกี่เป็นเชื้อที่ก่อโรค จึงชื่อว่าไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue Haemorrhagic Virus) มีรายงานครั้งแรกใน พ.ศ. 2501 ปัจจุบันไข้เลือดออกเดงกี่พบการติดเชื้อได้ในหลายประเทศ ในประเทศไทยแต่ละปีมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อหลายหมื่นจนถึงแสนราย โรคนี้พบมากในฤดูฝน ช่วงพฤษภาคมถึงกันยายน พบในเด็กอายุ 5-9 ปีมากที่สุด รองลงมา 10-14 ปี แรกเกิดถึง 4 ปี และ15 ปีขึ้นไป ตามลำดับ มีจำนวนทั้งชายและหญิงมีจำนวนใกล้เคียงกัน และยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและวงการแพทย์ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงลายมี 2 ชนิด ได้แก่ยุงลายสวนและยุงลายบ้าน ที่พบกันบ่อยที่สุดคือยุงลายบ้าน พบในบ้าน บริเวณรอบบ้าน มีหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ Aedes Aegypti และเป็นยุงลายเพศเมีย หากินในเวลากลางวัน ชอบวางไข่ในน้ำนิ่งที่ค่อนข้างสะอาด และเชื้อไวรัสจะอยู่ในตัวยุงได้ตลอดชั่วชีวิตของยุงตัวนั้นประมาณ 1-2 เดือน
อาการเด่นๆ หลังรับเชื้อไวรัสเดงกี่ เข้าสู่ร่างกายได้ 5-8 วัน อาการของโรคจะปรากฏขึ้น มี 4 ระดับ
- ไข้สูงลอยนาน 2-7 วัน
- มีอาการเลือดออกบ่อย โดยมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง
- ภาวะตับโต สามารถคลำบริเวณใต้ชายโครงขวา และเมื่อกดแล้วจะเจ็บ
- ภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว และอาจเกิดภาวะช็อค
อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออก
เด็กผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีไข้สูงเฉียบพลัน หน้าแดง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อย ต่อมาจะพบเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่ดื่มน้ำ ซึม นอนนิ่ง ไม่พูดคุย บางคนเลือดกำเดาออก ถ่ายเป็นสีดำ อาเจียนมีเลือดปน และมักไม่แสดงอาการหวัด ไม่ไอ ช่วงอันตรายจะอยู่ช่วงไข้เริ่มลง 2-7 วัน โดยทั่วไปจะพบภาวะช็อคหรือเสียชีวิตไม่มากมีเพียงร้อยละ 2-3 มีอาการมือเท้าเย็น กระสับกระสาย ชีพจรเต้าเร็ว เบา หากแรงดันเลือดตกจนถึงขั้นช็อคอาจเสียชีวิต แต่ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกสามารถรักษาได้ผลดีถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น
ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก
ระดับความรุนแรงของไข้เลือดออกมี 4 ระดับ
ระดับ 1 : ไข้สูง แต่ยังจะไม่พบจุดเลือดออก โดยระดับนี้สามารถดูและเบื้องต้นด้วยการเช็ดตัวบ่อยๆ ดื่มน้ำเยอะๆ
ระดับ 2 : ระยะนี้ถ้าผู้ป่วยยังสามารถทานอาหาร ดื่มน้ำได้ ยังไม่ต้องมาโรงพยาบาล
(แต่ถ้าทานและดื่มไม่ได้ให้พามานอนโรงพยาบาล เพื่อตรวจและดูแลอย่างใกล้ชิด)
ระดับ 3 : พบชีพจรที่เบาและเร็ว มือเท้าเย็น หน้าซีด กระสับกระส่าย นั่นแสดงว่ามีความดันเลือดต่ำมาก ให้รีบพามา
โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์และตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว
ระดับ 4 : แรงดันเลือดตกมาก ไม่สามารถวัดค่าได้ หรือการเกิดภาวะช็อค ซึ่งอาการระดับนี้เกิดขึ้นให้รีบพามาโรงพยาบาลในทันที
การวินิจฉัยไข้เลือดออก
เมื่อได้พบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติการป่วย ตรวจร่างกาย และทำการตรวจเลือด ณ ห้องปฏิบัติการ อย่างละเอียด
การป้องกันไข้เลือดออก
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงลายกัด
- กำจัดหรือลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น แหล่งที่มีน้ำขังนิ่งและสะอาด
การรักษาไข้เลือดออก
- หมั่นเช็ดตัว ดื่มน้ำบ่อยๆ
- ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามให้แอสไพริน บูเฟน เพราะจะทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดเสียไป)
- ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลแต่เนื่นๆ จะช่วยลดภาวะ เลือดออก และช็อค ที่แทรกซ้อนได้