วัณโรคหลังโพรงจมูก มีอาการอย่างไร วิธีป้องกันโรควัณโรค

“วัณโรคหลังโพรงจมูก” โรคหายาก ไม่มีอาการเตือนชัดเจน เสี่ยงได้ทุกเพศทุกวัย

“วัณโรคหลังโพรงจมูก” โรคหายาก ไม่มีอาการเตือนชัดเจน เสี่ยงได้ทุกเพศทุกวัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีของ น้ำตาล-บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อย่างไม่ทราบสาเหตุชัดเจน จนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูก และพบว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อจึงบ่งชี้ว่ามีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก

>> ผลวินิจฉัย "น้ำตาล เดอะสตาร์" เสียชีวิตด้วยวัณโรคหลังโพรงจมูก

Sanook! Health จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรควัณโรคหลังโพรงจมูกมากฝากกัน


โรควัณโรคหลังโพรงจมูก คืออะไร?

วัณโรค คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เล็กมากคือเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ติดต่อโดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นาน ยกเว้นไม่ทนทานต่อแสงแดด

เมื่อคนสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่จมูกหรือลำคอ ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ส่วนที่มีขนาดเล็กๆ จะเข้าไปสู่ที่ปอด เชื้อจะถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากมีเชื้อที่ถูกทำลายไม่หมดจะแบ่งตัวทำให้เกิดการติดเชื้อ ถ้าระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อวัณโรค

เชื้อวัณโรคจะแพร่โดยเชื้อจนอยู่ในเสมหะที่มีขนาด 1-5 ไมครอนซึ่งจะไปถึงถุงลมในปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อ เสมหะนี้จะเกิดจากการไอ จาม พูดหรือร้องเพลง เชื้อโรคอาจจะอยู่ที่กล่องเสียงหรือในปอด หากเสมหะมีขนาดใหญ่กว่านี้จะถูกติดที่เยื่อบุโพรงจมูกซึ่งตามปกติไม่ทำให้เกิดโรค

โดยส่วนใหญ่แล้วจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน จากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด แม้ว่าส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยเป็นโรควัณโรคที่ปอด แต่วัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย

สำหรับ วัณโรคหลังโพรงจมูก พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด นั่นหมายถึงเป็นกรณีที่พบได้ค่อนข้างยากนั่นเอง

ในกรณีของโรควัณโรคหลังโพรงจมูก พบว่ามีการติดต่อกันได้น้อยกว่าวัณโรคชนิดอื่น


วัณโรค พบได้ในส่วนใดของร่างกายได้บ้าง?

นอกจากปอด และโพรงจมูกที่ไม่ค่อยพบแล้ว เราอาจสามารถพบวัณโรคได้ในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่พบได้เป็นส่วนน้อย เช่น เยื่อหุ้มสมอง เนื้อสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ กระดูกสันหลัง ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง มดลูก อัณฑะ หรืออาจจะบอกได้ว่าไปได้ทุกส่วนของอวัยวะในร่างกาย


ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค

  • จำนวนเชื้อวัณโรคที่อยู่ในอากาศ

  • ความเข้มข้นของเชื้อโรคซึ่งขึ้นกับปริมาณเชื้อ และการถ่ายเทของอากาศ

  • ระยะเวลาที่คนอยู่ในห้องที่มีเชื้อโรค

  • ภูมิคุ้มกันของคนที่สัมผัสโรค


อาการของวัณโรคหลังโพรงจมูก

จากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก ไม่เหมือนกับโรควัณโรคปอดทั่วไปที่จะมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือดออก เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ด้วย


การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูก
 

การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อน หรือต่อมน้ำเหลือง


การป้องกันโรควัณโรค

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนมากๆ พื้นที่พลุกพล่าน พื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรควัณโรค

  2. ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่แออัด ควรใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันการสูดดมละอองฝอยน้ำลายจากการไอ จาม ของผู้ป่วย รวมถึงเชื้อโรคที่พบได้ในอากาศ

  3. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากภูมิต้านทานโรคในร่างกายทำงานได้ดี ก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคได้น้อยลงมาก

  4. หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค

  5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรควัณโรค

  6. ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี

  7. แม้การตรวจร่างกายจะปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารมี ไข้ต่ำๆ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ


แม้ว่าอุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลง สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ แต่ไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนกกับโรคนี้มากนัก เพราะวัณโรคเป็นโรคที่รักษาได้ หากพบว่าเป็นโรคนี้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคได้

>> วัณโรคที่พราก “น้ำตาล เดอะสตาร์” ใช้สิทธิประกันสังคม-บัตรทอง รักษาได้

tuberculosistuberculosis

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook