“ส้ม-กวางตุ้ง” ติดอันดับผักผลไม้พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด

“ส้ม-กวางตุ้ง” ติดอันดับผักผลไม้พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด

“ส้ม-กวางตุ้ง” ติดอันดับผักผลไม้พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ปิดผลตรวจสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ ปี 62 ชี้ 41.3% ยังเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) แถลงผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2562 ว่า จากการเก็บตัวอย่างตั้งแต่ 25 มีนาคม – 5 เมษายน 2562 ณ ห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำ เช่น บิ๊กซี แมคโคร ท็อป เดอะมอลล์ และเทสโก้ โลตัส รวมไปถึงตลาดสดในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีก 15 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา โดยแบ่งเป็นผัก 15 ชนิด ชนิดละ 12 ตัวอย่าง (ยกเว้นกระเทียมจีนที่เก็บเพียง 10 ตัวอย่าง) รวม 178 ตัวอย่าง เช่น กวางตุ้ง คะน้า กะเพรา พริก กะหล่ำดอก ผักชี มะเขือเปราะ เป็นต้น และผลไม้อีก 9 ชนิด ชนิดละ 12 ตัวอย่าง รวม 108 ตัวอย่าง เช่น ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง องุ่น มะละกอสุก แก้วมังกร แอปเปิล มะม่วงสุก และกล้วยหอม รวมทั้งสิ้นเป็นผักและผลไม้จำนวน 287 ตัวอย่าง ก่อนจะส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ที่สหราชอาณาจักร


ผลตรวจสารเคมีตกค้างใน “ผัก”

ผลการวิเคราะห์พบว่าในประเภท “ผัก” 178 ตัวอย่าง มีจำนวนตัวอย่าง 40% ที่มีสารเคมีตกค้างเกินกว่ามาตรฐาน 16% พบสารเคมีตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน และ 44% ไม่พบสารเคมีตกค้าง ในรายละเอียดผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในตัวอย่างมากที่สุดคือ กวางตุ้ง พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง รองลงมาคือคะน้า กะเพรา ผักชี พริก กะหล่ำดอก ผักชี โดยพบ 9, 8, 7, 7, 7 ตัวอย่าง ตามลำดับ


ผลตรวจสารเคมีตกค้างใน “ผลไม้”

ประเภท “ผลไม้” ที่พบการตกค้างมากที่สุดคือ ส้ม ที่พบสารเคมีตกค้างในทุกตัวอย่าง รองลงมาคือชมพู่ ฝรั่ง องุ่น โดยพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 11, 7, 7 ตัวอย่างตามลำดับ


ผลตรวจสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ประเภทอื่นๆ

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างผักและผลไม้ที่ปลูกในประเทศกับผลไม้นำเข้าพบว่า ผลไม้นำเข้าพบการตกค้าง 33.3% แต่ที่ผลิตในประเทศพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 48.7%

นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบผักผลไม้ที่ขายให้ห้างค้าปลีก ซึ่งประชาชนต้องซื้อในราคาสูงกว่าผักผลไม้ในตลาดทั่วไปหลายเท่านั้น ผลการวิเคราะห์ในปีนี้พบว่าผักผลไม้ในห้างค้าปลีกมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่าตลาดสด โดยพบมากถึง 44% (พบ 52 ตัวอย่างจาก 118 ตัวอย่าง) ในขณะที่ในตลาดสดพบ 39% (66 จาก 168 ตัวอย่าง)


ยังพบสารเคมีตกค้างอยู่ แต่น้อยลงกว่าเดิม

นางสาวปรกชล ระบุว่า “อย่างไรก็ตาม ข่าวดีสำหรับประชาชนทั่วไปคืออัตราการตกค้างของผักและผลไม้ในปี 2562 นั้นลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเฝ้าระวังในปี 2560 ซึ่งไทยแพนพบการตกค้างเกินมาตรฐาน 46% และผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองคุณภาพ GAP, GMP พบการตกค้างเหลือ 26% เท่านั้น” 


ผักผลไม้จากเกษตรอินทรีย์ของรัฐ ยังพบสารเคมีตกค้าง

“ส่วนผักผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของรัฐ ‘Organic Thailand’ ยังคงต้องปรับปรุง เพราะไทยแพนพบการตกค้างของสารพิษ 3 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่าง ในขณะที่ตรารับรองเกษตรอินทรีย์อื่น เช่น USDA, EU, Bioagricert, มกท.(สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) สุ่มไม่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเลย” นางสาวปรกชลกล่าว


สารเคมีตกค้างที่พบ เป็นสารที่ถูกแบนห้ามใช้

นอกจากจะพบสารเคมีในผลิตภัณฑ์ผักผลไม้เกษตรอินทรีย์แล้ว ไทยแพนยังพบด้วยว่าสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุดคือ สารฆ่าเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกานานกว่าทศวรรษ เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ แต่กลับพบการตกค้างในผัก และผลไม้ถึง 57 ตัวอย่าง รองลงมาคือไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน และคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการสมองของเด็ก พบ 54, 41, 39 และ 38 ตัวอย่างตามลำดับ

นอกเหนือจากนี้ยังพบสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส ถึง 8 ตัวอย่าง พบสารพิษที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เช่น คาร์โบฟูราน 9 ตัวอย่าง เมโทมิล 10 ตัวอย่าง และสารซึ่งไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 มากถึง 9 ชนิด เช่น Boscalid, Ethirimol, Fenhexamid, Fluxapyroxad, Isopyrazam, Metrafenone, Proquinazid, Pyrimethanil, Quinoxyfen ซึ่งสาร 3 กลุ่มนี้ทั้งหมดล้วนผิดกฎหมาย และเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปล่อยให้มีการใช้ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ปล่อยให้มีการตกค้าง

ไทยแพนจะจัดเตรียมผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวและประเด็นหารือไปเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ หลังจากมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว โดยจะเรียกร้องให้ทั้ง 2 กระทรวงเดินหน้ายุติการใช้สารพิษอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยเร็วที่สุด และเสนอให้จัดการแก้ปัญหาสารพิษที่ตกค้างบ่อย และตรวจพบตกค้างเป็นอันดับต้นๆ เช่น สารคาร์เบนดาซิม รวมถึง แนวทางจัดการกับหน่วยราชการที่ปล่อยให้มีการจำหน่ายและใช้จนสามารถตรวจพบการตกค้าง

ส่วนกรณีผักผลไม้ที่ขายในห้างค้าปลีก โดยเฉพาะส่วนที่พบว่ายังมีการใช้สารพิษร้ายแรงที่ประเทศไทยได้ห้ามใช้แล้ว ไทยแพนจะนำข้อมูลดังกล่าวไปมอบให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อให้มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook