“ไอเป็นเลือด” เกิดจากอะไร เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
ไอ เป็นอาการที่เจอกันได้ในโรคระบบทางเดินหายใจ ทุกคนต้องเคยมีอาการไอกันมาบ้าง ไม่ว่าจะ ไอแห้ง ๆ ไอมีเสมหะ แต่หากอาการไอไม่ได้ปกติเหมือนเคย แต่เกิด ไอเป็นเลือด ขึ้นมา นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่กำลังคืบคลานมา
ทำไมเราถึงไอเป็นเลือด?
ไอเลือดออก (Haemoptysis) คือการไอที่พบเลือดปนออกมา ซึ่งเลือดที่ออกมานั้นมาจากปอดหรือหลอดลม ซึ่งอาการดังกล่าวไม่มีอันตราย ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเสมอไป หากมีเลือดออกมาเล็กน้อย แล้วหายไปเมื่อหยุดไอ แต่การไอเป็นเลือด หากเป็นเลือดที่มาจากอวัยวะอื่น เช่น ทางเดินอาหาร โพรงจมูก คอ อาจจะเป็นภาวะ ไอเป็นเลือดที่เรียกว่า Pseudohemoptysis ซึ่งต้องอยู่ที่การตรวจร่างกายหาสาเหตุต่อไป
ไอเป็นเลือด แบบนี้อันตราย!
- มีอาการไอแล้วเลือดที่ออกมาเป็นสีคล้ำดำ หรือสีคล้ายเลือดหมูเก่า ๆ และมักจะออกมาเป็นก้อนปนกับเสมหะหรือเป็นสีช้ำเลือดช้ำหนอง
- ไอเลือดออกปริมาณมาก เช่น ไอครั้งเดียวแล้วมีเลือดสด ๆ ออกมาเกิน 1 แก้วน้ำ หรือ ใน 1 วัน ไอมีเลือดออกเกิน 2 แก้วครึ่ง และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
- ไอออกมาเป็นฟอง มีเลือดเป็นลิ่ม ๆ และมีเสมหะผสม
ไอเป็นเลือด มีแบบไหนบ้าง?
- ไอเป็นเลือดสด อาการไอเป็นเลือด เป็นอาการหนึ่งของวัณโรคปอด โรคหลอดลมพอง เป็นต้น
- ไอปนเลือด มีเสมหะ และเลือดปนกับเสมหะ ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน พบในโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง มะเร็งของหลอดลม ฝีในปอด เป็นต้น
- ไอเป็นสายเลือด มีเลือดเป็นสายปนกับเสมหะ ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน พบในโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง มะเร็งของหลอดลม เป็นต้น
- ไอมีเสมหะเป็นสีสนิม เพราะมีเลือดเก่าๆ ปนมาด้วย พบในโรคปอดบวม เป็นต้น
ไอเป็นเลือด เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง เป็นอาการที่เกิดจากการไอเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี สาเหตุมาจาก ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน และการสัมผัสกับมลภาวะเป็นระยะเวลานาน เช่น ฝุ่น ควัน ซึ่งทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดได้
- โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีอาการไอปนเลือด มีเสมหะ โดยเลือดจะออกมาปนกับเสมหะแต่ไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน
- ฝีในปอด โรคฝีในปอดก็เกิดจากการอักเสบภายในเนื้อปอด โดยสาเหตุคือการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา โดยหากมีฝีในปอด ก็จะมีอาการไอปนเลือดได้เหมือนกัน ปอดบวม ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ สาเหตุของไอเป็นเลือดที่พบมากที่สุดคือ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน และการติดเชื้อในปอด หรือปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมด้วย อาการไอเป็นเลือดจะดีขึ้น และหายเป็นปกติ เมื่อการติดเชื้อได้รับการรักษา
- หลอดลมพอง คือ ภาวะที่หลอดลมขยายตัวอย่างผิดปกติ และมีการผลิตเมือกมากในทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะไอเป็นเสมหะค่อนข้างมาก หากทางเดินหายใจอักเสบจะไอเป็นเลือดร่วมด้วย
- วัณโรค วัณโรค ทำให้มีอาการไอเรื้อรังนานมากกว่า 3 สัปดาห์ มีเสมหะเป็นเลือด ไข้สูง นอกจากนี้ ยังมีอาการเหนื่อยง่าย น้ำหนักลด และมีภาวะเบื่ออาหารร่วมด้วย
- โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นของหลอดเลือดแดงในปอด ผู้ป่วยมักหายใจลำบากอย่างกะทันหัน เจ็บหน้าอก และในบางรายอาจไอเป็นเลือดร่วมด้วย
- ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรงเป็นสาเหตุทำให้มีน้ำในช่องปอด ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก อาจมีเสมหะเป็นฟองปนเลือด นอกจากนี้ ปัญหาหลอดเลือดต่าง ๆ อาจทำให้เลือดออกในทางเดินหายใจและปอดได้เช่นกัน แต่ภาวะนี้พบได้น้อยมาก
- มะเร็งปอด อาการไอเป็นเลือดหรือเสมหะเป็นเลือด เป็นอาการหนึ่งของมะเร็งปอด ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่
- เลือดออกในปอด คือการที่มีการตกเลือดอย่างเฉียบพลันจากปอด ทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลม หรือถุงลม อาการแรกเริ่มที่พบบ่อย คือ การไอเป็นเลือด หากเป็นรุนแรงจะมีอาการขาดออกซิเจน ทำให้มีออกซิเจนในเลือดต่ำ และมีอาการเขียวคล้ำตามมา
การรักษาอาการไอเป็นเลือด
- ไอเป็นเลือดปริมาณไม่มาก (Nonmassive hemoptysis) อาจจะตรวจร่างกาย ซักประวัติเบื้องต้น วินิจฉัยว่าเป็นเลือดที่ออกมาจากส่วนใด อาจจะให้ยา ให้นอนพัก (Bed Rest) ก็อาจจะหายเป็นปกติได้ หรือหากเอ็กซเรย์เจอความผิดปกติอาจจะต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น CT Scan ตรวจส่องกล้อง เพื่อวินิจฉัย และรักษาตามโรคนั้น ๆ ต่อไป
- ไอเป็นเลือดปริมาณมาก (Massive hemoptysis) รีบไปพบหมอให้เร็วที่สุด หมอจะพยายามช่วยให้สามารถหายใจได้ อาจจะต้องมีการสอดท่อช่วยหายใจ หาตำแหน่งที่เลือดออกพยายามห้ามเลือดที่ออก และทำการตรวจส่องกล้อง ทำการฉีดสี เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษา โดยการให้ยา หรือ ทำการผ่าตัดรักษา
การป้องกันอาการไอเป็นเลือด
- ดูแลสุขภาพร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
- หลีกเลี่ยงการสูดดมควัน ฝุ่นละออง สารเคมีอันตราย
- ไม่ปล่อยให้มีอาการไอเรื้อรังนาน ๆ
- หากมีอาการไอ มีเสมหะ ต้องรีบรักษา